ถึงเติมเงิน BTS ผ่าน Rabbit LINE Pay ได้ แต่บัตรหาย BTS ก็เทเราเหมือนเดิม

เบื่อไหม? กับการต่อคิวบนสถานีรถไฟฟ้า BTS ในเวลาเร่งด่วนเพื่อแลกเหรียญไปซื้อตั๋วที่ตู้ หรือเติมเงิน เติมเที่ยวเดินทางที่สถานีเท่านั้น แต่ตอนนี้สบายแล้วเพราะต่อไปเราสามารถเที่ยวเดินทางและ เติมเงินผ่าน Rabbit LINE Pay บนมือถือได้แล้ว

ภาพจาก Shutterstock

ไม่ต้องต่อคิวแล้ว เติมเงิน เติมเที่ยว BTS ผ่าน Rabbit LINE Pay บนมือถือได้เลย

เดิมคนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS จะต้องไปเคาน์เตอร์ที่สถานีรถไฟฟ้าเพื่อแลกเหรียญไปหยอดตู้ซื้อตั๋ว หรือเติมเงิน เติมเที่ยวเดินทาง แต่ต่อจากนี้รถไฟฟ้า BTS หันมาจับมือกับ Rabbit LINE Pay ให้ลูกค้าอย่างเราสามารถเติมเงิน และเติมเที่ยวเดินทางผ่านมือถือได้แล้ว

โดยขั้นตอนง่ายๆ คือ ใครที่มีบัตร Rabbit ประเภทต่างๆ อยู่แล้ว สามารถเข้าไปคลิกเชื่อมบัตรที่มีอยู่กับ แอพพลิเคชั่นของ LINE และนำไป Activate (เปิดการใช้งาน) ที่สถานี BTS ปัจจุบันให้บริการแค่ 5 สถานี ได้แก่ อโศก เพลินจิต อนุสาวรียชัยสมรภูมิ ศาลาแดง และ ช่องนนทรีย์

ที่สำคัญมีโปรโมชั่นให้คนที่ผูกบัตร BTS กับ Rabbit LINE Pay ก่อนสิ้นปีนี้ ได้เที่ยวเดินทางฟรี 3 เที่ยว เที่ยวฟรีจะมีอายุ 90 วันหลังจากการลงทะเบียน หลังการลงทะเบียนจะเริ่มใช้งานเที่ยวฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2561

*อัพเดท ตอนนี้บูธที่รับลงทะเบียน Rabbit LINE Pay ณ สถานี BTS ทั้ง 5 แห่ง ปิดปรับปรุงชั่วคราวเพราะพบปัญหาบางเรื่อง ขณะเดียวกันบนโลกออนไลน์มีกระแสข่าวว่าการเชื่อมบัตร Rabbit กับ Rabbit LINE PAY จะส่งผลให้ไม่สามารถใช้เดินทางรถไฟฟ้า BRT รวมถึงร้านค้าที่เข้าร่วมเครือข่ายได้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ภาพจาก Shutterstock

Rabbit-BTS ไม่คุยกัน บอกทางแก้กรณีบัตรหายคนละแบบ แล้วลูกค้าต้องทำไง

เหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นได้เสมอ ล่าสุดมีผู้ถือบัตร Rabbit ทำบัตรหาย แต่ได้ลงทะเบียนบัตรประชาชนใน Rabbit Reward ไว้แล้ว จึงเข้าไปที่สถานี BTS อโศก เพื่อสอบถามว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ทางเจ้าหน้าที่ของ BTS เลยถามกลับว่า ตัวลูกค้าเคยลงทะเบียนการอายัดบัตรซึ่งลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม 199 บาทไว้หรือไม่ ?

ผู้ถือบัตรดังกล่าวเลยแจ้งว่าไม่ได้ทำไว้ สุดท้ายเจ้าหน้าที่สถานีจึงแนะนำให้ ลงบันทึกแจ้งความของหายไว้ ถ้าเกิดมีเจ้าหน้าที่เจอบัตรที่คล้ายกันจะมีการติดต่อกลับไป และถ้าอยากถามอะไรเพิ่มให้โทรไปที่ Rabbit Hotline 02-617-8383

แต่เมื่อ BrandInside ตรวจสอบข้อมูลกับ Rabbit Hotline พบว่าตอนนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดบัตร 199 บาทแล้ว แต่สามารถโทรแจ้งอายัด และออกบัตรใหม่โดยเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมโอนเงินจากบัตรที่หายมาบัตรใหม่ 50 บาทได้เลย ทว่าลูกค้าต้องพกบัตรประชาชน และบัตร Rabbit เข้าไปลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการ Rabbit ในสถานีสยามก่อนบัตรหาย (แจ้งลงทะเบียนได้ที่สถานีสยามที่เดียว)

และเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ Rabbit Hotline ถึงคำตอบที่เจ้าหน้าที่ BTS แจ้งลูกค้ากรณีบัตรหาย ทาง Rabbit บอกว่า เป็นการสื่อสารภายใน BTS ถ้าต้องการร้องเรียนต้องโทรแจ้งที่ Call Center ของ BTS เอง

ขณะเดียวกัน BrandInside ยังถามถึง กรณีที่ลูกค้าลงทะเบียนกับ Rabbit Reward ซึ่งเป็นฟีเจอร์หนึ่งของ Rabbit ที่ลูกค้าต้องลงทะเบียนระบุเลขประจำตัวประชาชน เพื่อเชื่อมกับเลขบัตร Rabbit ที่มีอยู่แล้ว ทาง Rabbit แจ้งว่าตัว Rabbit และ Rabbit Reward เป็นคนละบริษัทกันจึงไม่สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้

นอกจากนี้เมื่อเราถามถึงรายละเอียดของ Rabbit LINE Pay ว่า สามารถเติมเที่ยวเดินทางได้ไหม? ทาง Rabbit Hotline ให้คำตอบว่า “เรื่องนี้ต้องขอให้ลูกค้าติดต่อกับ LINE Pay เอง ขออนุญาตให้เบอร์ติดต่อค่ะ 02-841-5400″

สรุป

BTS ให้บริการมา 19 ปี หลังจากให้ลูกค้าแลกเหรียญที่เคานเตอร์ไปซื้อตั๋วที่ตู้ เริ่มพัฒนาให้ลูกค้าสามารถเติมเงินและเติมเที่ยวผ่าน Rabbit Line Pay บนมือถือได้แล้ว แน่นอนว่าสะดวกขึ้น แต่เมื่อ BTS มีพันธมิตรเพิ่มขึ้น ทั้ง Rabbit ทั้ง LINE Pay เรากลับไม่เห็นการประสานงานกันอย่างชัดเจน (แม้จะเป็นบริษัทในเครือกันทั้งหมด) ไม่ว่าจะช่องทางสถานี หรือ Call Center จึงกลายเป็นว่าภาระการติดต่ออยู่ที่ลูกค้า

ทว่าปัญหาสำคัญคือ Rabbit เป็น E-wallet แบบหนึ่ง กลับไม่มีมาตรการดูแลลูกค้า ไม่มี Market Conduct ที่ชัดเจน เมื่อลูกค้ามีปัญหา การติดต่อผ่าน Rabbit, LINE Pay และ BTS จึงได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน จึงเกิดคำถามว่า มาตรฐานการให้บริการคืออะไร?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา