แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิดยังคงสูง แต่บราซิลกลับพยุงเศรษฐกิจ จนกลับมาเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด
อะไรที่ทำให้บราซิลฟื้นเศรษฐกิจได้ไวเช่นนี้ ไปดูกัน
โควิดยังไม่ทุเลา แต่เศรษฐกิจฟื้นตัวดี เหมือนช่วงก่อนโควิดแล้ว
เศรษฐกิจของบราซิลเข้มแข็ง แม้โควิดระบาดหนัก ดูจากตัวเลขทางเศรษฐกิจจะเห็นภาพชัด
- การเติบโตจากการลงทุนในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วในบราซิลเพิ่มขึ้น 4.6%
- เศรษฐกิจบราซิลเติบโตขึ้น 1.2% ในไตรมาสที่ 4 เทียบเท่ากับระดับเดียวก่อนหน้าการระบาดของโควิด
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของบราซิลกลับมาฟื้นตัวคือ “การส่งออกสินค้าเกษตร” โดย 5.7% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ในบราซิลมาจากภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจบราซิลฟื้นตัวได้เร็วคือรัฐบาลใช้งบประมาณในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแจกเงินให้ประชาชน 233 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 2,700 บาท) ทำให้บราซิลพยุงเศรษฐกิจได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
อีกทั้ง บราซิลยังผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ผู้คนออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้นสวนทางกับสถานการณ์ที่ยังรุนแรงจากการพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ P1 ที่มาจากบราซิล
บราซิลรับมือโควิดอย่างไร: เริ่มทดลองวิจัยจากเมืองเล็กก่อน
โครงการ “Project S” เป็นความร่วมมือของศูนย์ชีวการแพทย์ Biomedical Center Butantan กับ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเซาเปาโลโดยจะฉีดวัคซีน Coronavac ให้กับผู้ใหญ่วัยทำงานในเมือง Serrana จำนวน 27,160 คน โดย 95% จากทั้งหมดเป็นคนเมือง
Serrana เป็นย่านชานเมืองที่ห่างจาก Sao Paulo 330 กิโลเมตร และเนื่องจากเป็นชานเมือง จึงมีการหลั่งไหลของผู้คนจากเมืองนี้ไปทำงานตามเมืองใกล้เคียง ทำให้ Serrana เป็นจุดเสี่ยงในการกระจายโควิดไปยังเมืองอื่น
บราซิลมีอัตราผู้ติดเชื้อจากโควิดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และกำลังเข้าสู่การระบาดระลอกสามซึ่งมีจำนวนคนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่หลังทดลองได้ 4 เดือน บรรยากาศในเมือง Serrana ก็กลับไปเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนโควิดระบาด แม้ว่าผลการวิจัยครั้งนี้จะยังไม่มีเอกสารยืนยันชัดเจน แต่ผลจากการทดลองในขั้นต้นทำให้เห็นว่าอัตราผู้ป่วยแสดงอาการลดลง 80% อัตราการเข้ารับการรักษาลดลง 86% และอัตราการเสียชีวิตลดลงถึง 95%
ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของศูนย์วิจัย Butantan กล่าวกับ CNN ว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่ได้จากการทดลองในเมือง Serrana ครั้งนี้คือ ทำให้รู้ว่าการควบคุมโควิดไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับทุกคน เพราะถ้าได้รับวัคซีนเพียง 70 หรือ 75% ก็สามารถป้องกันการแพร่ระบาดเพราะเข็มเดียวก็ถือว่าป้องกันได้ในระดับหนึ่งแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ป้องกันการแพร่ระบาดได้ แม้ในคนที่ยังรับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็มก็ตาม
สรุป
แม้ว่าบราซิลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จนสามารถทำให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปถึงผลของนโยบายที่ทุ่มงบประมาณไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะส่งผลอย่างไรบ้าง
ที่มา: CNN, The Wall Street Journal
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา