ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่พบสื่อ ชี้ 5 โจทย์ใหญ่ ธปท. หลังจากนี้ มองปัญหาเศรษฐกิจไทยแก้ได้ ต้องใช้เวลา

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ได้กล่าวในงานพบสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง มองว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยแก้ได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ชี้ถึง 5 โจทย์ใหญ่หลังจากนี้

Phuket ภูเก็ต
ภาพจาก Shutterstock

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ได้กล่าวในงานพบสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งว่า หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และประเทศไทยได้มีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้วนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปถึง 3 เรื่องสำคัญด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ เพราะไทยสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะและยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ และตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มต้นกล่าวถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นเป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อม ๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปถึงประมาณ 10% ของจีดีพี การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีอัตราการหดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี

เศรษฐพุฒิ ยังได้กล่าวว่าวิกฤติครั้งนี้เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือเมื่อผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว บริบทของไทยได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ

  1. การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมากทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ
  2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานานไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
  3. ยังมีความไม่แน่นอนว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับไหน จึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

เมื่อบริบทเปลี่ยนไปทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรมการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน มาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัดจึงต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีมุมมองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

นอกจากนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังชี้ถึงความท้าทาย 5 ข้อรออยู่หลังจากนี้ ได้แก่

  1. แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 และฟื้นตัวได้
  2. รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  3. สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด
  4. รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์ระยะต่อไปได้ดี
  5. พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ