แบงก์ชาติไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ หลังครบกำหนด 22 ตุลาคมนี้ ปรับวิธีช่วยเหลือเชิงรุกแก่ลูกหนี้ที่มีปัญหา

ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ แต่จะปรับวิธีเป็นช่วยเหลือเชิงรุกแก่ลูกหนี้ที่มีปัญหาแทน

Bangkok Thailand กรุงเทพ COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า มาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่จะครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่จะถึงนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานถึงจำนวนลูกหนี้ SME ที่เลือกขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวมีจำนวน 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างจากยอดสินเชื่อจำนวน 6.89 ล้านล้านบาท   ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาพักหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ธปท. ก็ยังมีมุมมองว่าหลังจากมาตรการดังกล่าวครบกำหนดแล้วจะไม่เกิดปัญหาที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (Cliff Effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด เนื่องจากลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ได้รับการขยายเวลาพักชำระหนี้ ขณะที่ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ธนาคารพาณิชย์เองก็ได้มีมาตรการรองรับออกมา เช่น การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกค้าที่มีเจ้าหนี้หลายราย ฯลฯ

นอกจากนี้ หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อน COVID-19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด 19

หลังจากนี้นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted) โดยหากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไปอาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้เนื่องจาก

  • ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว
  • ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (Moral Hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้
  • ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินเพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานคาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี

ไม่เพียงเท่านั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้แนะนำลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ควรชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้แล้ว ยังจะทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่

ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม และทาง ธปท. ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ