WHO เผย 1 ใน 7 ของคนตะวันออกเฉียงใต้มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวนมากป่วยซึมเศร้า แต่เข้าถึงการรักษาได้ยาก

WHO เผยว่า ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 260 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 7 มีปัญหาสุขภาพจิตและส่วนมากไม่ได้เข้าถึงการรักษา 

Andrea Bruni ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO กล่าวในงานวันสุขภาพจิตโลกเมื่อวันที่  10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า แม้ว่าปัญหาด้านสุขภาพจิตจะพบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในบางประเทศ ช่องว่างของการเข้ารักษาสูงถึง 90% ซึ่งหมายความว่า 90% ของคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที หรือไม่ก็ไม่ได้รับการรักษาเลย

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติเผยว่า ในปี 2019 เกือบ 1,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 8 ทั่วโลกยังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าตัวเลขในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากโลกเผชิญความเคร่งเครียดในช่วงโควิด-19 สงครามและวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตมีหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ อคติต่อผู้ป่วยทางจิตที่ยังคงมีอยู่มากในสังคม โดยหนึ่งในความเข้าใจผิดต่อผู้ป่วยคือการมองว่าผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาทางด้านจิตเวชในโรงพยาบาลหรือสถาบันจิตเวชเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องสามารถเข้าถึงและได้รับบริการภายในชุมชนที่เข้าถึงได้ง่ายและปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามหลักมนุษยชน

นอกจากนี้ ปัจจุบันการให้บริการเรื่องสุขภาพจิตยังมีอุปสรรคอยู่มากไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่ยังไม่เพียงพอ การขาดแคลนนโยบายที่จำเป็น การรักษาที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการรักษาและค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงกำลังค่อย ๆ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนและสร้างความเข้าใจจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์และผู้ดูแลคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญที่จะผลักดันนโยบายและบริการสำหรับผู้ป่วยทางจิตที่จะช่วยลดอคติของสังคมได้

Bruni ยังได้พูดถึงว่าการเข้าถึงการรักษาและการสร้างสุขภาพจิตที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิที่คนทั่วโลกควรจะได้รับ เพราะสุขภาพจิตมีผลต่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดี แต่ในปัจจุบัน ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตยังเจอกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคนจำนวนมากถูกกันออกจากชุมชนและสังคม การนำทรัพยากรมาลงทุนกับการให้บริการเรื่องสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ

Bruni แนะนำว่าการพัฒนาเครือข่ายการใช้บริการด้านสุขภาพภายในชุมชนจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงการรักษาและการดูแลด้านสุขภาพจิตได้ดีขึ้น รวมทั้งยังทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

ปัญหาด้านสุขภาพจิตยังคงเป็น 1 ใน 10 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกป่วยเป็นโรคติดต่อกันมามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยโรคทางจิตที่พบได้มากที่สุด คือ โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ซึ่งมีการสังเกตว่าโรคทั้ง 2 อย่างนี้พบได้มากในกลุ่มคนอายุน้อย

การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบความเชื่อมโยงระหว่างโซเชียลมีเดียและอาการวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าในคนอายุน้อย Bruni เองก็ได้กล่าวเสริมว่า เด็กและวัยรุ่นที่มีป่วยเป็นโรค 2 ประเภทนี้มีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด

ปัญหาที่ท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอีกอย่างคือการฆ่าตัวตาย ข้อมูลจาก WHO เผยว่า คนประมาณ 200,000 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี และยังเป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิตตั้งแต่ยังอายุน้อยในหลายประเทศ

Bruni กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้เพื่อป้องกันปัญหานี้อย่างเป็นรูปเป็นร่างทำได้ด้วยการติดตามดูแลคนที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย การสนับสนุนให้รายงานข่าวและพูดคุยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายบนโซเชียลมีเดียอย่างมีความรับผิดชอบ และการสร้างทักษะการใช้ชีวิตและการจัดการอารมณ์ให้กับกลุ่มคนอายุน้อย

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องคอยติดตามดูแลคือเรื่องวิธีที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย ข้อมูลพบว่าคนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฆ่าตัวตายด้วยการกินยาฆ่าแมลง ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องควบคุม จำกัด และแบนการเข้าถึงยาฆ่าแมลง Bruni ได้ผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เร่งทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้เพราะแม้ว่าจะเป็นปัญหาที่แก้ได้แต่ก็ไม่ได้ทำได้ง่าย

ที่มา – CNA 

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา