Big C ติดสปีด Go Online รับกลุ่มสินค้า Hardline ชะลอตัว พร้อมปูพรมร้านสะดวกซื้ออีก 200 แห่ง

ช่วงนี้ห้างค้าปลีกรายใดไม่ปรับตัว ก็คงถูกกลุ่ม Ecommerce ค่อยๆ กลืนกินธุรกิจดังที่ Brand Inside เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นลองมาศึกษากรณีของ Big C ยักษ์ Hyper Market ของไทยกันบ้าง ว่าจะมีแผนปรับตัวอย่างไร

ภาพโดย Groupe Casino (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

Synergy กับ BJC มุ่งห้างค้าปลีกเพื่อคนไทย

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ทางบมจ.เบอร์รี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค หนื่งในธุรกิจของอาณาจักรไทยเบฟเวอร์เรจ ได้เข้าซื้อกิจการบมจ.บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Big C ตั้งแต่ปี 2559 และปีนี้จะรับรู้รายได้เต็มที่ และการที่ BJC เข้ามาก็จะเชื่อมต่อธุรกิจต่างๆ กับทาง Big C ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้า หรือการพัฒนาสินค้าร่วมกัน เพื่อก้าวขึ้นสู่ห้างค้าปลีกเพื่อคนไทยให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่ลืมที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับช่องทางใหม่อย่าง Ecommerce ด้วย เพราะมันถือเป็นอนาคตของธุรกิจนี้

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BJC ยืนยันว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จะพยายามสร้างแพลตฟอร์ม Ecommerce ภายใต้ชื่อ Cmart (เดิมชื่อ Cdiscount) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผ่านการจำหน่ายอาหารสดได้ เพราะก่อนหน้านี้จำหน่ายแค่กลุ่มสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ในบ้าน และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมถึงปรับเว็บไซต์ Bigc.co.th ให้เป็น Ecommerce เต็มรูปแบบ เพื่อการเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น และตอบโจทย์การซื้อสินค้าออนไลน์ที่กำลังเป็นกระแสในประเทศไทย หลังในต่างประเทศเริ่มได้รับความนิยมมาก่อนหน้าแล้ว

ภาพหน้าเว็บไซต์ Big C

Hardline ยอดเริ่มตก สินค้าอื่นต้องมาช่วย

“ยอมรับว่ากลุ่ม Hardline เช่นเครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มมียอดขายที่ชะลอตัว เพราะผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้ผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า และเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นถ้า Big C ไม่ปรับ โอกาสที่จะคงยอดขายจากสินค้ากลุ่มนี้ไว้ก็ยากขึ้น ซึ่งการ Go Online ด้วย 2 เว็บไซต์คือ Cmart และ Bigc.co.th ก็น่าจะช่วยสร้างความหลากหลายในเรื่องช่องทาง และมองว่าถ้าเราส่งของสดได้ การส่งสินค้าอื่นๆ ก็คงไม่อยากเกินที่จะให้บริการ คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจากนี้จะเริ่มให้บริการได้ โดยนำสินค้าสดจาก 2-3 สาขาใหญ่ไปส่ง และเก็บเงินแบบ COD”

สำหรับยอดขายของ Bic C แบ่งเป็นอาหารแห้ง 50% อาหารสด 15% Hardline 15% Softline 10% และ Homeline 10% โดยในปี 2559 มียอดขายทั้งหมด 1.07 แสนล้าน และปี 2560 ตั้งเป้าเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว นอกจากนี้แผนของ Big C ในปีนี้ยังเน้นเรื่องการให้สิทธิประโยชน์กับผู้บริโภคที่ถือบัตร Big Card เพื่อสร้าง Brand Loyalty และกระตุ้นการจับจ่ายภายในสาขาต่างๆ เช่นสามารถเติมเงินโทรศัพท์มือถือ หรือใช้บริการต่างๆ ในเครือของ BJC ก็สามารถได้ส่วนลดเช่นกัน

ภาพโดย David (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

ปูพรม Mini Big C พร้อมลุยต่างประเทศเพิ่ม

สำหรับปีนี้ Big C จะขยายสาขา Mini Big C หรือร้านสะดวกซื้ออีก 200 สาขา เพื่อเติมเต็มความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมกับเปิดสาขาขนาดใหญ่อีก 9 แห่ง และ Big C Market อีกสองแห่ง ถือเป็นการเพิ่มสาขาจากสิ้นปี 2559 มีอยู่ราว 800 สาขา นอกจากนี้ยังมีแผนรุกตลาดกัมพูชา และลาวมากขึ้น เพราะต้องการสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกภายในภูมิภาคอาเซียน โดยทั้งหมดนี้ใช้งบลงทุนราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งทางฝั่งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคของ BJC ก็จะขยายออกไปในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน

สรุป

การเดินหน้าของ Big C ถือเป็นอีกความตื่นตัวของธุรกิจค้าปลีกไทย หลังจากกลุ่มเซ็นทรัลประกาศเดินหน้าแผนดิจิทัลไปก่อนหน้านี้ ยิ่งการที่กลุ่มไทยเบฟเวอร์เรจมี Big C เข้ามาเสริมแกร่งธุรกิจ โอกาสที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนก็มีสูงขึ้นไปอีก แต่ก็คงต้องรอดูต่อไปก่อนว่า การขับเคลื่อน Ecommerce ของ Big C จะเต็มที่ขนาดไหน เพราะก่อนนี้ก็ยังดูนิ่งๆ อยู่บ้าง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา