อะไรอยู่ใต้จานซูชิ? เบื้องหลังการใช้ Big Data สุดฉลาดจากร้าน Sushiro

บางครั้งไม่ว่าธุรกิจจะเตรียมพร้อมแค่ไหน แต่ก็ยังงานเข้าได้เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่าง Sushiro ร้านซูชิสายพานชื่อดังที่อยู่ ๆ ก็งานเข้า เพราะในญี่ปุ่นดันมีกลุ่มวัยรุ่นคึกคะนองบน TikTok เล่นแผลง ๆ โดยการเลียขวดซอสบนสายพานซูชิ หรือหนักกว่านั้นก็คือเอาน้ำลายไปป้ายบนซูชิที่วิ่งไปตามสายพาน 

งานนี้ทำเอาหุ้น Sushiro ร่วงกราวเพราะลูกค้ากังวลว่าตัวเองจะเจอกับซูชิที่ผ่านน้ำลายคนอื่นมาแล้วจนทางร้านต้องให้บริการแบบเข้มงวดขึ้น ปรับเปลี่ยนมาเสิร์ฟเฉพาะออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง ติดแผ่นกั้นระหว่างที่นั่งและสายพาน 

เหตุการณ์นี้คงจะให้ Sushiro เสียสูญไปไม่น้อย เพราะต้องใช้ความพยายามมหาศาลที่จะสร้างความพึงพอใจในแต่ละมื้ออาหาร ไม่ใช่แค่ความสดใหม่ของวัตถุดิบ การสร้างปฏิสัมพันธ์ของลูกค้ากับพนักงาน แต่เพราะเทคโนโลยีที่แบรนด์ใส่ไว้ใต้จานอย่างแนบเนียน… 

Sushiro ซ่อนอะไรไว้ใต้จาน?

ถ้าพนักงานเป็นคนรับออเดอร์ บริษัทคงพอติดตามได้ว่าลูกค้าสั่งเมนูไหนบ่อยเป็นพิเศษ แต่เพราะ Sushiro เป็นซูชิสายพานที่เคลื่อนไปเรื่อย ๆ ให้ลูกค้าหยิบซูชิเองแบบชิล ๆ แล้วแบบนี้แบรนด์จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าต้องการอะไร

คำตอบ คือ แท็ก IC ที่ติดอยู่ใต้จานซูชิ

เริ่มตั้งแต่ปี 2012 Sushiro ได้ติดแท็ก IC ไว้ใต้จานซูชิทุกจาน โดยแท็กนี้เองที่ทำให้แบรนด์สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ที่เข้ามาใช้บริการมากกว่า 1,000 ล้านรายการ ทั้ง

  • ประเภทของซูชิที่วางอยู่บนจาน
  • จานเคลื่อนไปตามสายพานตั้งแต่เมื่อไร
  • ลูกค้าหยิบจานซูชิตอนไหน
  • ลูกค้าโต๊ะไหนที่หยิบจานซูชิไป

เก็บข้อมูลไป แล้วทำอะไรต่อ?

หลังจากแท็ก IC เก็บข้อมูลมาเรียบร้อย ระบบในครัวของ Sushiro ที่เรียกว่า Supple Instructions System จะรับข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อ ระบบนี้มีหน้าที่ให้ข้อมูลกับเชฟว่าจะต้องทำซูชิแบบไหนเสิร์ฟในขณะนั้น พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะของลูกค้าว่าเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ ร้านมีลูกค้ามากขนาดไหน นานเท่าไรลูกค้าถึงจะเริ่มหยิบจานซูชิหลังจากได้ที่นั่งแล้ว

นอกจากนี้ ระบบหลังบ้านยังสามารถคาดการณ์ได้ว่าซูชิจานไหนที่จะขายดี พร้อมมีคำแนะนำว่าควรจะเสิร์ฟซูชิบนสายพานมากเท่าไรและเป็นซูชิหน้าไหนบ้าง อย่างเช่น ระบบจะรับรู้ว่าเชฟควรจะเสิร์ฟซูชิแซลม่อนเมื่อมีลูกค้าที่เป็นเด็กชื่นชอบซูชิดังกล่าว

เมื่อเชฟรู้แล้วว่าควรจะเสิร์ฟจานไหนให้ลูกค้า และจานไหนลูกค้าต้องการมาก เชฟก็จะไม่เสิร์ฟจานที่ไม่ค่อยมีคนอยากรับประทานเท่าไร ระบบนี้ช่วยลดขยะจากอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) ให้เหลือ 4% จากที่ปกติจะมี 10% 

แท็ก IC ยังช่วยให้ Sushiro สามารถรักษาความสดของซูชิบนจานไว้ได้อีก เพราะช่วยติดตามว่าซูชิแต่ละจานอยู่บนสายพานมานานเท่าไรแล้ว ถ้าซูชิจานไหนเคลื่อนที่ไปมาอยู่บนสายพานเกิน 350 เมตรแล้วก็จะถูกกำจัดออกจากสายพานทันที เพราะแปลว่าซูชิจะไม่สดอีกต่อไป 

นวัตกรรมของ Sushiro ไม่ได้สร้างแค่ความประทับใจให้ลูกค้าเป็นครั้ง ๆ ไป แต่ในระยะยาว ข้อมูลที่เก็บได้จะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อดูประสิทธิภาพของโปรโมชันและเมนูที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ว่าถูกใจลูกค้าหรือไม่ด้วย

การเก็บข้อมูล Big Data ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรในวงการธุรกิจ แต่การจับทางถูกว่าข้อมูลอะไรที่มีประโยชน์และควรเก็บ รวมถึงการรับรู้ว่าจะนำข้อมูลไปใช้มากกว่าที่ทำให้ธุรกิจสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นได้

จากนี้คงต้องจับตาดูต่อไปว่า Sushiro จะใช้วิธีไหนที่จะป้องกันไม่ให้พฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบของลูกค้าบางส่วนกระทบกับธุรกิจ ในอนาคตเราอาจได้เห็นว่าแท็ก IC ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบว่าซูชิแต่ละจานถูกสัมผัสไปหรือยังก็ได้

อ้างอิง – Harvard, CNN

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา