มาทำความรู้จัก Blind Trust ซึ่ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โอนทรัพย์สินให้ดูแลและจัดการ

Brand Inside พามาทำความเข้าใจเรื่องของ Blind Trust ซึ่งกำลังเป็นเรื่องโด่งดังในขณะนี้ และเป็นศัพท์ใหม่ของการเมืองไทยไปแล้วในขณะนี้

ภาพจาก Unsplash

ข่าวที่โด่งดังในช่วงนี้คือเรื่องของ Blind Trust ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ตัดสินใจโอนทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านบาทให้กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด ดูแลและบริหารสินทรัพย์ให้ โดยเจ้าตัวไม่สามารถสั่งการ หรือยุ่งเกี่ยว จนจะพ้นจากตำแหน่งการเมือง 3 ปีไปแล้ว

Brand Inside พาไปรู้จักกับ Blind Trust ซึ่งเราจะได้ยินคำนี้บ่อยมากขึ้นหลังจากนี้

Blind Trust คืออะไร

Blind Trust ถ้าจะให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ กองทรัสต์ที่จัดตั้งขึ้นมา โดยที่ผู้โอนทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์นี้จะไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการ ให้ทิศทางการลงทุน หรือแม้แต่ที่จะทราบถึงสินทรัพย์ของทรัสต์ที่ลงทุนอยู่ ผลตอบแทนการลงทุนของทรัสต์ ขณะเดียวกันผู้ที่บริหารกองทรัสต์นี้ก็ไม่ทราบได้ว่ากำลังบริหารทรัพย์สินให้กับใคร

สำหรับประโยชน์ของ Blind Trust คือ แก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ และการเอื้อผลประโยชน์ต่างๆ โดยการจัดตั้ง Blind Trust นี้เป็นที่นิยมของนักการเมืองสหรัฐฯ เช่น บารัค โอบาม่า หรือ บิล คลินตัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ Blind Trust ในไทยยังไม่มีตัวกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ โดยในไทย ทรัสต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT เท่านั้น

นักการเมืองไทยจัดการกับทรัพย์สินอย่างไร?

สำหรับกรณีของนักการเมืองไทยโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้บริการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า Private Fund ในการบริหารทรัพย์สินของตัวเองผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งมีกฎหมายรองรับคือ พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี โดยในรัฐบาลนี้นั้นมีผู้ที่ใช้บริการเช่น

  1. สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
  2. ณรงค์ชัย อัครเศรณี
  3. หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล

ก่อนหน้านี้รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีนักการเมืองที่ใช้บริการกองทุนส่วนบุคคล  จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองไทยที่ออกมากล่าวว่าเขาเองก็ใช้ Blind Trust ของต่างประเทศคือ กรณ์ จาติกวณิช แต่ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากต้องการความโปร่งใส

กรณีของธนาธรหล่ะ?

สำหรับกรณีของ ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ สิ่งที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ทำนั้นคือการตั้ง Private Fund โดยได้ให้ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารทรัพย์สินให้

แต่สิ่งที่แตกต่างของกรณีของ “ธนาธร” กับ นักการเมืองคนอื่นๆ คือเรื่องของ MOU ที่จัดทำระหว่างหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด นั้นเป็นการเปิดเผยเงื่อนไขให้ประชาชนได้รับทราบถึงเรื่องนี้ ซึ่งโครงสร้างสัญญาเหมือนกับ Blind Trust ได้แก่

  1. ธนาธรจะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้
  2. เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้ธนาธร หรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด
  3. บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ

นอกจากนี้ถ้าหากหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่วางมือจากทางการเมืองแล้ว อีก 3 ปีถัดไปถึงจะสามารถไถ่ถอนสินทรัพย์ทั้งหมดออกมาได้

มุมมองของแวดวงการเงิน

สำหรับมุมมองของแวดวงการเงินนั้นมีความเห็นแตกต่างกันไป เช่น วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ได้โพสต์ว่า “คุณธนาธรทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีนักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนเขาทำกันอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำในรูปแบบ Blind Trust แต่เนื้อหามิได้ต่างกันและบางท่านก็ทำเข้มงวดกว่า

ขณะทางด้าน บรรยง พงษ์พานิช ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ว่า “ผมขอขอบคุณความไว้วางใจที่มอบให้ครับ เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันทุกประการ เพื่อให้แยกผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากการทำงานด้านการเมือง ซึ่งสำหรับเราเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพการจัดการการลงทุนตามปกติ ไม่ได้เป็นการเลือกข้าง เลือกพรรค เราสนับสนุนการสร้างบรรทัดฐานที่ดีเช่นนี้ในการเมืองไทย และยินดีที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับทุกคน ทุกพรรค ที่มีเจตนาและความตั้งใจจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนะครับ

นอกจากนี้ในเรื่องของภาษีนั้น ล่าสุดกรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงในกรณีที่มีข้อครหาถึงเรื่อง Blind Trust ของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังจะโอนทรัพย์สินให้ดูแลเหมือนเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีนั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้ชี้แจงว่าตรวจสอบได้และต้องเสียภาษีเช่นกัน

Update: แก้ไขบทความเรื่องของ Blind Trust และ Private Fund และเพิ่มเรื่องภาษี

ที่มาสำนักข่าวอิศรา, หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, ไทยพีบีเอส, ประชาไท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ