จีนสร้างทางรถไฟเชื่อมเอเชีย-ยุโรปเส้นใหม่ ไม่ต้องผ่านรัสเซียก็ส่งสินค้าได้

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตุรกีต้อนรับเส้นทางรถไฟสายใหม่ของจีน วิ่งจากซีอานยิงยาวไปปราก เชื่อมเส้นทางเอเชียสู่ยุโรปภายใต้โครงการ One Belt, One Road ด้วยระยะทาง 11,483 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์บอสพอรัส (Bosporus) ที่สร้างโดยกลุ่มบริษัทในญี่ปุ่นด้วย

Bosporus หรือช่องแคบอิสตันบูล (Strait of Istanbul) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี เป็นช่องแคบที่กั้นยุโรปออกจากเอเชีย นอกจากนี้ บอสพอรัสยังถือว่าเป็นช่องแคบที่มีพื้นที่แคบที่สุดในโลก ยาว 30 กิโลเมตร กว้าง 3.7 กิโลเมตร 

บอสพอรัส (Bosporus) หรือเรียกอีกอย่างว่า ช่องแคบอิสตันบลู
ภาพโดย Astronaut photograph ISS008-E-21752 – NASA Earth Observatory

ทั้งนี้ ช่วงที่ประธานาธิบดีเออร์โดกันเยือนจีนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาได้กล่าวไว้ว่าจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นทั้งในด้านคมนาคม ท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ถือเป็นการสานสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างข้อริเริ่ม Middle Corridor ของตุรกี กับข้อริเริ่ม Belt and Road ของจีนด้วย

ในการนี้ Hu Heping สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเลขาธิการมณฑลชานซี กล่าวว่า “ถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่ได้มาเป็นสักขีพยานร่วมกัน (ช่วงที่รถไฟสินค้าจีนวิ่งสู่ตุรกี) เพราะถือว่าเป็นรถไฟสินค้าจีนที่วิ่งจากจีนมายังอุโมงค์รถไฟบอสพอรัสขบวนแรก” 

เขาย้ำว่า “เส้นทางสายนี้จะช่วยสานประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเอเชียและยุโรปมหาศาล”

จำลองพิกัดเส้นทางการบินจากซีอาน จีน ไปยังปราก สาธารณรัฐเชก ผ่านน่านฟ้ารัสเซียใช้เวลา 10 ชั่วโมง

Belt and Road Initiative ไม่ใช่แค่โปรเจกต์ฝันลอยๆ แต่ช่วยจีนกระจายความเสี่ยงมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ตุรกี – จีน กล่าวว่า “เส้นทางสายใหม่ที่สร้างขึ้นนี้ถือเป็นความพยายามของจีนที่ต้องการสร้างความหลากหลายทางภูมิรัฐศาสตร์ มันไม่ใช่แค่เปิดเส้นทางสายใหม่ไปยังตุรกีเท่านั้น แต่มันยังเพิ่มทางเลือกเส้นอื่นที่ไม่ต้องพึ่งพารัสเซียได้อีกด้วย เรียกได้ว่าจีนต้องการกระจายความเสี่ยงมากกว่าจะพึ่งพารัสเซียให้เป็นทางเลือกเดียว” 

ขณะที่ Ali Ihsan Uygun หัวหน้าทีมรถไฟตุรกี ประเมินว่าในช่วงปี 2023 – 2025 รถไฟสินค้าจีนนี้น่าจะบรรทุกสินค้าได้ราว 5 ล้านตันต่อปี 

ด้าน Thomas Kargl คณะกรรมการขนส่งสินค้ารถไฟออสเตรเลียแห่ง Rail Cargo Group ระบุว่า เส้นทางสายใหม่นี้น่าจะบรรทุกสินค้าได้ 5 แสนตันในปี 2021 และเพิ่มเป็น 1.75 ล้านตันในอีก 5 ปีถัดไป

จากแผนที่ด้านบน คือเส้นทางรถไฟจากซีอาน จีน ไปยังปราก สาธารณรัฐเชก ระยะทาง 11,483 กิโลเมตร บรรทุกได้ 42 ตู้คอนเทนเนอร์ คาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 วัน เส้นทางดังกล่าวผ่านประเทศคาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย ตุรกี บัลแกเรีย เซอร์เบีย ฮังการี และสโลวาเกีย

Kargl of the Rail Cargo Group เคยใช้เส้นทางสายนี้บรรทุกแล็ปท็อป ฮาร์ดดิสก์ ส่วนประกอบทีวี สิ่งทอ และอุปกรณ์หรืออะไหล่ยานยนต์จากเอเชียไปยังยุโรปได้ หากใช้เส้นทางสายอื่น ก็อาจจะเป็นสินค้าจำพวกนมผง อาหารแช่แข็ง หมู ผลิตภัณฑ์ยา และชิ้นส่วนยานยนต์

ทั้งนี้ Mehmet Cahit Turhan รัฐมนตรีคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานแห่งตุรกี ได้กล่าวว่า “นี่ถือเป็นยุคใหม่ ตุรกีจะมีความสำคัญต่อข้อริเริ่ม One Belt One Road ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แน่นอน ถือเป็นการเชื่อมต่อระหว่างประตูที่เปิดสู่ใจกลางเมืองลอนดอนไปยังปักกิ่ง และตุรกีเองก็กลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญมากของม้าเหล็กรถไฟจีนบนเส้นทางสายไหม (Iron Silk Road)”

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของรถไฟสายนี้ และเส้นทางสายไหมสายใหม่นี้นั้นค่อนข้างเนื้อหอม ไล่มาตั้งแต่ญี่ปุ่นภายใต้การนำของ JICA (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) จับมือกับ TAISEI Corp ร่วมทุ่มทุนสร้างอุโมงค์ที่ลึกที่สุดในโลกระดับ 60 เมตร 

เพื่อให้รถไฟวิ่งผ่านเส้นทางที่เชื่อมโยงเอเชียมายังยุโรปด้วยเงินมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านเยน หรือ 1.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 55,344,927,900 บาท หรือ 5.5 หมื่นล้านบาท

The Yavuz Sultan Selim Bridge สะพานที่เกาหลีสร้างเหนือช่องแคบบอสพอรัส ตุรกี ภาพจากรัฐบาลตุรกี

เกาหลีใต้ก็เอากับเขาด้วย เชื่อมเอเชียสู่ยุโรปได้ด้วยสะพานแขวน

ด้านเกาหลีใต้เองก็ไม่น้อยหน้าญี่ปุ่น และจีน โดยบริษัท Hyundai Engineering & Construction, SK Engineering และ Construction ก็เคยร่วมมือกันสร้างสะพานเส้นที่สามที่อยู่เหนือช่องแคบบอสพอรัสนี้ในปี 2016 ด้านตุรกีเองก็เตรียมแผนจะเพิ่มรถไฟไปยังสะพานนี้เช่นกัน 

สะพานที่มีชื่อว่า Yavus Sultan Selim Bridge นี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานทั้งเพื่อการเดินรถของรถไฟและยานยนต์ ชื่อย่อๆ ที่เรียกกันคือ Third Bosphorus Bridge คือสะพานข้ามบอสพอรัสเส้นที่สาม ก่อนหน้านั้นมีสะพานแรกคือ Bosphorus Bridge หรือสะพานบอสพอรัส สะพานเส้นที่สองคือ Fatih Sultan Mehmet Bridge

The Yavuz Sultan Selim Bridge ภาพจากรัฐบาลตุรกี

สะพานเส้นที่สามนี้ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลดำและใกล้กับทางเข้าช่องแคบบอสพอรัส ก่อตั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2013 เปิดให้ใช้งานวันที่ 26 สิงหาคม 2016 สะพานเส้นนี้ก็เชื่อมโยงเอเชียสู่ยุโรปเช่นกัน มีขนาดยาว 1.4 กิโลเมตร กว้าง 58 เมตร ต้นทุนในการสร้างอยู่ที่ 800 – 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท 

เป็นทางรถวิ่ง 8 เลน และเป็นระบบรถไฟรางคู่ หรือรถไฟทางคู่ (Double Track/ Dual Track) คือให้รถไฟ 2 ทางที่วางขนานกันไป เดินรถได้ทั้ง 2 ทาง สวนกันได้เลยไม่ต้องรอหลีกกันที่สถานี 

รัฐบาลตุรกีกล่าวว่า สะพาน Yavuz Sultan Selim นี้ เป็นสะพานแขวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตั้งชื่อตามพระนามสุลต่านเซลิมที่ 1 ที่เคยเป็นผู้ขยายจักรวรรดิออตโตมันไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

ที่มา – Asian Nikkei Review, AA Anadolu Ajansi (1), (2), KBS World Radio 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา