อ่านแผน beko แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากยุโรป ที่โตไวที่สุดในไทย ทำตลาด 3 ปี ตั้งเป้าพันล้าน

จับตาดู beko แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ต้นๆ จากยุโรป แต่เป็นน้องใหม่ในตลาดไทย เพราะเข้ามาได้ประมาณ 3 ปี ยอดขายเติบโตสูง แผนปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ถึง 1,000 ล้านบาท เน้นสินค้าหลักคือตู้เย็นและเครื่องซักผ้า

ยอดขายพุ่งไว เป็นประวัติศาสตร์ใหม่ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย

beko (เบโค) แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากยุโรปที่เข้ามาทำตลาดในไทยได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ผลประกอบการที่ผ่านมา

  • ปี 2016 มีรายได้ 200 ล้านบาท
  • ปี 2017 มีรายได้ 500 ล้านบาท
  • ปี 2018 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 1,000 ล้านบาท

แครี่ ฮาร์เตวา ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าในประเทศ บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด บอกว่า ในปี 2018 ทางบริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตไว้ที่ 1,000 ล้านบาท คิดเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมา

“สิ่งสำคัญของแบรนด์เราคือ มีสินค้าที่อยู่ในเกรดพรีเมี่ยม แมสพรีเมี่ยม และแมส เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ ตู้เย็นเรามีตั้งแต่หลักแสน ไปจนถึงหลักพันหลักหมื่น รวมถึงทางบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการรองรับบริการหลังการขาย”

แครี่ ฮาร์เตวา ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าในประเทศ บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด
แครี่ ฮาร์เตวา ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าในประเทศ บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด

พรชัย ตระกูลเตชะเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด ระบุว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์สามารถตีตลาดในไทยได้ คือการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมั่นคงผ่านการทำการตลาด และโปรโมชั่นที่โดนใจ ในด้านยอดขายของปี 2017 ที่ผ่านมา เราเป็นแบรนด์จากยุโรปที่โตไวที่สุดในประเทศไทย

“ไม่มีแบรนด์ไหนในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยที่โตไวเหมือน beko และการที่ในปีนี้ เราตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ถือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าไทย”

เปิดแผน สินค้าลูกรักคือ ตู้เย็นเอกลักษณ์ และ เครื่องซักผ้าฝาหน้า

ครึ่งปีแรก beko จะรุกหนักไปที่ตู้เย็นที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

ตู้เย็นทุกรุ่นของแบรนด์ beko (ไม่ว่าจะเป็นรุ่นราคาต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด) จะมีฟังก์ชั่นแยกทำความเย็น 2 ระบบ ด้วยการใช้เทคโนโลยี NeoFrost ระบบความเย็นแยกส่วนอัจฉริยะ

ผู้บริหารของ beko เน้นย้ำเลยว่า “เราไม่ต้องการให้การแช่ปลาในตู้เย็น มีกลิ่นของทุเรียนติดมาด้วย” พร้อมทั้งบอกด้วยว่า ตู้เย็นของทางแบรนด์เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม

  • เป้าหมาย 1,000 ล้านบาทในปีนี้ beko คาดว่า จะมาจากการขายตู้เย็นเป็นสัดส่วนถึง 30% 
ตู้เย็นของ beko
ตู้เย็นของ beko

ครึ่งปีหลัง beko จะรุกหนักไปที่ เครื่องซักผ้าฝาหน้า

ผู้บริหารของ beko บอกว่า จุดเด่นของเครื่องซักผ้า beko คือการซักแบบครบวงจรอย่างรวดเร็วใน 28 นาที ในทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นราคาต่ำสุดหรือสูงสุด ฟังก์ชั่นการทำงานรวดเร็วต้องพร้อมตอบโจทย์ Smart Living ของผู้บริโภคในยุคที่เวลาเดินไปอย่างรวดเร็ว

  • เป้าหมาย 1,000 ล้านบาทในปีนี้ beko คาดว่า จะมาจากการขายเครื่องซักผ้าเป็นสัดส่วนถึง 30% เท่ากับตู้เย็น

สรุปคือ เป้ายอดขาย 1,000 ล้านบาทของ beko ในปี 2018 จะแบ่งเป็น ตู้เย็น 30% เครื่องซักผ้า 30% ส่วนอีก 40% จะเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น แอร์ เครื่องครัว และสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น

เครื่องซักผ้าของ beko
เครื่องซักผ้าของ beko

แผนการตลาดหลักของ beko คือสื่อออนไลน์

สิ่งที่น่าสนใจของ beko คือไม่ทำการตลาดผ่านการโฆษณาในสื่อเก่า เช่น หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ เพราะทางแบรนด์ต้องการสื่อสารไปหากลุ่มคนที่ใช้งานดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และที่สำคัญมีประสิทธิภาพมากกว่า

“การที่เราไม่ลงโฆษณาบนสื่อเก่า เป็นเพราะเราต้องการสื่อสารกับลูกค้าในกลุ่มที่จำเพาะ อีกอย่างเราเป็นแบรนด์ยุโรป เราต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนต่างก็ใช้เทคโนโลยี กลุ่มแมสที่เราต้องการเข้าถึงก็ใช้ดิจิทัลกันเป็นเรื่องปกติ”

ช่องทางการสื่อสารของ beko เน้นไปที่ Facebook Fanpage “เราชื่อมั่นในการทำการตลาดผ่าน Facebook”

พรชัย ตระกูลเตชะเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด
พรชัย ตระกูลเตชะเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด

Omnichannel คือกลยุทธ์การขาย

แม้จะลุยทำการตลาดผ่านออนไลน์เป็นหลัก แต่แผนการขยายหน้าร้านของ beko ก็ยังไม่ทิ้ง ผู้บริหารของ beko บอกว่า “เทรนด์การซื้อของออนไลน์คนไทยยังเน้นการซื้อของที่มีราคาไม่เกิน 1,000 บาท” 

จากข้อมูลนี้ beko จึงยังไม่ทำช่องทางขายออนไลน์เป็นของตัวเอง แต่ใช้ช่องทางของพาร์ทเนอร์ไปก่อน โดยเฉพาะ Modern Trade ที่ต่างมีช่องออนไลน์ของตัวเอง เช่น Power Buy หรือ Home Pro เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ beko มีหน้าร้านอยู่ประมาณ 300 แห่ง แบ่งเป็นสัดส่วนตามรายได้ดังนี้

  • ช่องทางหน้าร้านแบบ Traditional Trade : ทำรายได้เป็นสัดส่วน 30% 
  • ช่องทางหน้าร้านแบบ Modern Trade : ทำรายได้เป็นสัดส่วน 70%

ส่วนภายในปี 2018 นี้ beko จะเพิ่มช่องทางหน้าร้านให้เป็น 400 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทำให้เกิดความครอบคลุมในการกระจายสินค้ามากขึ้น

สรุป

แม้จะเข้ามาตีตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ beko เติบโตในด้านยอดขายสูงมาก ความท้าทายต่อจากนี้คือการทำตลาด และต่อสู้กับแบรนด์พี่ใหญ่ที่แข็งแกร่งในพื้นที่แถบนี้ แถมยังทำตลาดล่วงหน้าไปก่อน อย่างเช่น LG, Samsung, Sharp, Panasonic ฯลฯ

การตั้งเป้ายอดขาย 1,000 ล้านบาทถือเป็นการตั้งเป้าเติบโตที่สูง ต้องรอติดตามว่าในปีนี้ beko จะทำได้ตามที่ประกาศไว้หรือไม่

  • แต่ในอีก 3 ปีนับจากนี้ หรือปี 2022 ทาง beko ตั้งเป้าหมายรอไว้ก่อนหน้าแล้วว่า จะขอขึ้นไปอยู่อันดับ 1 ใน 3 ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยให้ได้ นั่นหมายความว่า ยอดขายของ beko จะต้องไต่ไปให้ถึงเกือบ 2,000 ล้านบาทให้ได้
บาร์เซโลน่า เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ beko ในยุโรป
บาร์เซโลน่า เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ beko ในยุโรป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา