[วิเคราะห์] เมื่อ 82% ของคนไทยมีบัญชีเงินฝากอยู่แล้ว ทำไมแบงก์ชาติต้องสร้างบัญชีเงินฝากพื้นฐานอีก?

ปีที่ผ่านมาไทยเปิดตัวบัญชีเงินฝากพื้นฐานให้กลุ่มฐานราก แต่ปัจจุบัน 82% ของคนไทยมีบัญชีเงินฝากอยู่แล้ว การสร้างบัญชีเงินฝากพื้นฐานจะช่วยให้กลุ่มฐานรากเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นอย่างไร?

ภาพจาก Pixabay

คนไทยมีบัญชีเงินฝาก 82% แต่ใช้บริการเงินฝากน้อยลง

ข้อมูลจากรายงานของ World Bank พบว่า คนไทยมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน องค์กรการเงินชุมชน สูงถึง 82% ถือว่าคนไทยมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ที่อยู่ 98% และที่มาเลเซีย 85%

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสํานักงานสถิติแห่งชาติพบว่า แม้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินได้สูงมาก (97%) แต่กลับใช้บริการเงินฝากลดลงในทุกกลุ่มรายได้ เพราะครัวเรือนมองว่า เงินฝากของธนาคารอัตราดอกเบี้ยต่ำ ค่าธรรมเนียมสูงเกินไป และบางรายมีปัญหาฐานะการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้น้อย ปี 2559 เลือกไม่ฝากเงินสูงถึง 43% เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่คนกลุ่มนี้เลือกจะไม่ฝากเงินที่ 27.8%

ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุให้ปี 2561 ธปท. เปิดตัวบัญชีเงินฝากพื้นฐานให้เฉพาะกลุ่มฐานรากและผู้มีรายได้น้อย โดยปัจจุบันผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีอยู่ 11.5 ล้านราย ส่วนคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีอยู่ 8 ล้านราย

ภาพจาก ธปท.

แบงก์ชาติเพิ่มทางเลือกให้กลุ่มฐานราก ไม่เสียค่าธรรมเนียม-ไม่พึ่งหนี้นอกระบบ

บัญชีเงินฝากพื้นฐาน มีเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมถูกกว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป มีจุดเด่น 3 อย่าง ได้แก่

  1. ไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำในการเปิดบัญชี 0 บาทก็เปิดได้
  2. ไม่คิดค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีพื้นฐาน (แต่ถ้าบัญชีไม่เคลื่อนไหวใน 24 เดือน จะถูกปรับเป็นบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปและเสียค่าธรรมเนียม)
  3. ไม่คิดค่าธรรมเนียมการแรกเข้าบัตรเดบิต หรือ ATM 

ดังนั้นเมื่อเทียบกับการเปิดบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าบัตรเดบิตหรือ ATM 100 บาท เสียค่าธรรมเนียมรายปีอีก 200 บาท และถ้าบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวก็เสียเงินอีก 50 บาท 

ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินให้คนกลุ่มฐานรากสามารถฝากเงิน โอนเงิน ชำระเงิน และรับสวัสดิการจากภาครัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และค่อยๆ สร้างความเข้าใจเรื่องบริการการเงินให้มากขึ้น

นอกจากนี้กระทรวงการคลัง หาทางแก้ปัญหาคนเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน จึงมีนโยบายแก้หนี้นอกระบบ เช่น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ที่เปิดให้รายย่อยสามารถกู้เงินได้เพื่อการประกอบอาชีพวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท  ส่วน พิโกไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์วงเงินให้กู้ไม่เกิน 50,000 บาทมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ ทั้งสองสินเชื่อให้กู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี ถือว่าน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน

บัญชีเงินฝากพื้นฐานของไทย vs ต่างประเทศเป็นอย่างไร?

ปัจจุบันหลายประเทศมีบัญชีเงินฝากพื้นฐาน เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ โดยจะให้สิทธิประโยชน์คล้ายบัญชีเงินฝากพื้นฐานของไทย อาทิ บางประเทศลดค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีสำหรับบัตรเดบิตหรือ ATM หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงิน (กำหนดจำนวนครั้งที่ทำธุรกรรมฟรี) ฯลฯ

ข้อแตกต่างสำคัญคือ บัญชีเงินฝากพื้นฐานในต่างประเทศ เปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีสัญชาติในประเทศนั้นๆ หรือ มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศ สามารถเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ต่างจากของไทยที่เปิดให้เฉพาะผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและอายุเกิน 65 ปีเท่านั้น

สรุป

เมื่อแบงก์ชาติมองว่าบัญชีเงินฝากเป็นพื้นฐานในการทำธุรกรรมจึงเกิด “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ขึ้นมา แต่ในโลกปัจจุบันคนแค่ต้องการทำธุรกรรม ฝาก-ถอน-โอน-จ่าย-กู้ยืม เท่านั้นไม่จำกัดว่าต้องใช้บริการธนาคารอีกต่อไป แบงก์ชาติคงต้องปรับตัวให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา