เมื่อแบงก์ควบรวม ธนชาต-ทหารไทย-กท.คลัง-ING ใครจะถือหุ้นใหญ่ในแบงก์เกิดใหม่?

เมื่อปี 2547 ธนาคารทหารไทยรวมกิจการกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขณะที่ปี 2553 ธนาคารธนชาตก็รวมกิจการของธนาคารนครหลวงไทยเข้ามาทั้งหมด

และปี 2562 ธนาคารธนชาต และธนาคารทหารไทย (TMB) ลงนามจะรวมตัวกันเป็นธนาคารใหม่ภายในสิ้นปีนี้ แต่ทั้ง 2 ธนาคารมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น ธนาคารต่างประเทศ กระทรวงการคลัง ฯลฯ แบงก์ใหม่ใครจะถือหุ้นอย่างไร?

ปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ธนชาต-ทหารไทยเป็นแบบไหน?

ด้านธนาคารธนชาต มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ส่วนได้แก่ บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) เป็นเหมือนบริษัทแม่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารโนวา สโกเทีย (BNS) จากแคนาดาเข้ามาถือหุ้นในธนชาตตั้งแต่ปี 2550 เพื่อขยายฐานลูกค้าในเอเชีย แต่หลายปีที่ผ่านมา BNS มีทีท่าจะลดน้ำหนักการถือหุ้นธนาคารธนชาตลง เพราะจะกลับไปเน้นธุรกิจในอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

ด้านธนาคารทหารไทย มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ING Group (กลุ่มการเงินจากเนเธอร์แลนด์) แม้จะมีข่าวว่า ING Group อาจจะถอนตัวออกจาก TMB ก่อนหน้านี้ แต่ในการลงนามสัญญาการรวมธนาคารครั้งล่าสุด ING Group แสดงจุดยืนที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารหลังการควบรวม

Mark Newman Head of Challengers & Growth Market Asia ผู้แทนของ ING บอกว่า ทาง ING จะถือหุ้นในแบงก์ใหม่ที่เกิดขึ้นต่อไป และจะพัฒนาด้าน digital banking data analytics ให้ธนาคารแข่งขันได้ 

ทั้งนี้สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่หลังการรวม 2 ธนาคาร ยังไม่มีสัดส่วนที่ชัดเจน แต่ ING Group กระทรวงการคลัง และ TCAP จะเป็นผู้ถือหุ้นหลักและคาดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่า 20%

หลังการรวมกิจการทั้ง 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน จะมีความชัดเจนเรื่องโครงสร้างผู้บริหาร โครงสร้างการทำงานภายในแบงก์ รวมถึงวาะการกำหนดชื่อธนาคารใหม่ ซึ่งจะดึงจุดแข็งทั้งจากธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เล่าว่า ทั้ง TMB ต้องเพิ่มทุนในธนาคารใหม่นี้ ส่วน TCAP จะแยกส่วนธนาคารธนชาตออกมาและแลกเป็นสัดส่วนผู้ถือหุ้นในธนาคารใหม่ที่เกิดขึ้น หลังการควบรวมจะต้องทำ Rebalance พอร์ทสินเชื่อมากขึ้น จุดเด่นของ ธนชาตคือมีสินเชื่อเช่าซื้อเป็นที่ 1 ของตลาด ส่วน TMB เรื่อง Digital Platform แข็งแกร่ง

“ข้อดีการควบรวมที่เห็นคือต้นทุนต่อหน่วยในการออกบริการใหม่ๆ จะลดลงเพราะหาเงินทุน (เช่น เงินฝาก) ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียคือ ดีลนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังเป็นการลงนามแบบไม่ผูกมัดเท่านั้น”

ประพันธ์ อนุพงษ์อจอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต (TBANK) บอกว่าในส่วนพนักงานธนาคารธนชาตที่มีอยู่กว่า 12,000 ราย และธนาคารทหารไทยกว่า 8,000 รายจะไม่ลดจำนวนลง แต่พนักงานต้องเปลี่ยนหน้าที่จากที่ส่วนใหญ่ทำเรื่องธุรกรรมฝาก-ถอน-โอน ฯลฯ จะต้อง Reskill พัฒนาสู่ดิจิทัลและเป็นที่ปรีกษาทางการเงินมากขึ้น

ด้านสาขาธนาคาร (TMB-400 สาขา, ธนชาต-512 สาขา) อาจมีความทับซ้อนในบางพื้นที่ เพราะทั้ง 2 ธนาคารมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นจะเกิดการ Relocation หรือย้ายสาขาให้อยู่ในพื้นที่ที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด

จุมพล ริมสาคร ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะตัวแทนประธานกรรมการธนาคาร TMB บอกว่า ทางกระทรวงการคลังพร้อมจะเพิ่มทุน แต่จำนวนเท่าใดต้อง รอดูหลังการทำดีลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมองว่าการรวมธนาคารครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งการเงินในไทย ซึ่งถือเป็นนโยบายของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว

สรุป

ธนาคารในไทยมีการควบรวมกันมาหลายครั้งโดยเฉพาะ 2 แบงก์นี้ที่เคยเป็นแบงก์ขนาดเล็กมากก่อน ซึ่งค่อยๆ ควบรวมกับธนาคารอื่น และมีผู้ถือหุ้นเป็นแบงก์ต่างประเทศ (เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบธนาคารให้สากล และดียิ่งขึ้น) ตอนนี้ก็วางแผนรวมตัวกันอีกเพื่อให้แบงก์ใหญ่ขึ้นและกลายเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 6 ของไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา