ธปท.เผยคนไทย “เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นานและเป็นหนี้จนแก่” ส่อแววฉุดเศรษฐกิจไทย

ปัญหาหลายเรื่องดูจะแก้ไขได้ง่ายหากมีเงินมากพอ แต่เมื่อคนไทยมีเงินไม่พอใช้ “หนี้” เลยเกิดขึ้น และขยายตัวในระดับประเทศเพราะหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงแตะอันดับ 3 ของโลก (รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้) ต่อเนื่องมา 3 ปี

ว่าแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ เรื่องหนี้สินของคนไทยอย่างไรบ้าง ?

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง Top 3 ของโลกฉุดเศรษฐกิจ

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงินสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่า หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวขึ้นอาจมีผลฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้จากการอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น คือเมื่อใช้จ่ายไปแล้วไม่ก่อให้เกิดรายได้ทำให้คนไทย “เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่” ขณะเดียวกันยังเห็นกลุ่มผู้กู้อายุน้อยมีหนี้เสียสูงขึ้นโดยเฉพาะในสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan)

“ต้องยอมรับหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงขึ้น ไม่ได้แปลว่าคนไทยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยเฉพาะกรารเข้าถึงสินเชื่อที่จะเพิ่มรายได้ เช่น สินเชื่อธุรกิจ หรือสินเชื่อบ้านที่ปัจจุบันมีแค่ 6% จากฐานสินเชื่อทั้งหมด ต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้านถึง 30% จากสินเชื่อของสหรัฐทั้งหมด”

ทั้งนี้หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย จากข้อมูลเครดิตบูโร 9 ปีย้อนหลัง (ปี 2552-2561) พบว่าพฤติกรรมผู้กู้ของไทยจะขอสินเชื่อหลายประเภท มีหลายบัญชีเงินกู้ และกู้เงินจากหลายสถาบันการเงิน (ทั้งธนาคารและ Non-Bank) โดยเฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) เช่น Ploan สินเชื่อบัตรเครดิต ฯลฯ มีมูลค่าหนี้เสียและคนเป็นหนี้เสียมากขึ้นเรื่อยๆ

คนครึ่งประเทศมีหนี้ หนี้ก้อนใหม่แต่ผู้กู้คนเดิม

สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. บอกว่า จากข้อมูล ธปท. สัดส่วนครัวเรือนไทยมีหนี้อยู่ที่ 51% ใกล้เคียงกับข้อมูลสํานักงานสถิติแห่งชาติ (SES) ครัวเรือนมีหนี้ (รวมหนี้นอกระบบ) อยู่ระดับ 53% จุดที่ต้องจับตามองคือในกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้ 19% เป็นครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหา เช่น ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ทัน เงินออมไม่พอ ฯลฯ เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางหากเศรษฐกิจไม่ดี หรือมีปัจจัยกระทบจะทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้มีปัญหา

ทั้งนี้กลุ่มครอบครัวที่มีหนี้และมีปัญหาส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายสูงในหลายหมวด เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าสันทนาการ ค่าซ่อมรถ ค่าดูแลบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

“ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เช่น หมวดค่าดูแลบ้าน ค่าซ่อมรถ อาจหมายถึงคนที่ใช้รถราคาสูง หรือ บ้านที่ใหญ่เกินรายได้ นอกจากนี้ปัญหาคนที่มีหนี้ ส่วนใหญ่มาจากขาดวินัยทางการเงินและไม่สามารถแยกแยะค่าใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็น และไม่จำเป็น จึงมีปัญหาในการใช้จ่ายและการเก็บออมตามมา”

โสมรัศมิ์ บอกว่า ปัญหาของไทยคือ ระดับและการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนโตเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของคนไทยยังกู้หนี้หลายบัญชี จากหลายสถาบันการเงิน เช่น คนไทย 1 คน มีบัญชีหนี้เฉลี่ย 1.7 บัญชี แต่คนที่มีสูงสุดมีหนี้ถึง 20 บัญชี

จากฐานข้อมูลเครดิตบูโรคนไทย 20 ล้านคนที่มีหนี้ในระบบ ส่วนใหญ่เป็นผู้กู้รายเดิมที่ขอสินเชื่อเพิ่ม จากสถาบันการเงินใหม่ ส่วนผู้กู้รายใหม่ (ที่ไม่เคยมีสินเชื่อ) มีแค่ 1 ใน 5 ของสินเชื่อทั้งระบบแสดงว่ามีประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจำนวนมาก แม้ปัจจุบันเห็นแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้รายใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จากก่อนหน้านี้ผู้กู้รายเดิมจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง และหัวเมืองใหญ่

“จากข้อมูลเครดิตบูโรตลอด 9 ปีพบว่า คนไทยมีสินเชื่อหลายบัญชี จากหลายสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน กลุ่มผู้กู้อายุน้อยส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิต Ploan สินเชื่อรถยนต์ และเมื่ออายุมากขึ้นจะเริ่มมีสินเชื่อบ้าน เมื่ออายุมากขึ้นจะมีสินเชื่อธุรกิจ เช่น ที่ให้กับเกษตรกร ฯลฯ”

ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมาธปท. ออกเกณฑ์ใหม่ควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ทั้งบัตรเครดิต Ploan สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ขณะนี้ธปท. ตั้งทีมงานศึกษาการทำ DSR (Debt Service Ratio) หรือสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ ที่อาจเป็นเกณฑ์ใหม่ที่ใช้กำหนดว่าคนไทยหนึ่งคนจะมีสินเชื่อได้เท่าไร

สรุป

หนี้สินไม่ใช่เรื่องไม่ดีแต่ธปท. ต้องดูแลให้คนไทยเข้าถึงสินเชื่อ และไม่ให้คนไทยมีหนี้เสียเยอะเกินไป เพราะถ้าคนไม่จ่ายหนี้ ธนาคารจะนำเงินที่ไหนมาคืนผู้ฝากเงิน แต่เกณฑ์ใหม่ๆ ของธปท. ที่เคร่งครัดขึ้น (เพื่อกันคนขอสินเชื่อเกินตัว) ทว่าอีกปัญหาคือเมื่อประชาชนขอสินเชื่อไม่ได้ อาจเป็นการผลักให้คนไปใช้หนี้นอกระบบ ธปท.ต้องหาทางใหม่เพื่อที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงและเข้าใจเรื่องการเงินได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา