ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นสำหรับการแย่งตัว Private Banker แต่ในทวีปเอเชียโดยเฉพาะสิงคโปร์และฮ่องกง ความร้อนแรงในการแย่งตัวทำให้ถึงขั้นต้องมีการปรับฐานเงินเดือนเพิ่มอีก 30% เพื่อรั้งบุคลากรเหล่านี้ไว้
การแข่งขันระหว่างธนาคารภายในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะการแย่งตัว Private Banker ในฮ่องกงและสิงคโปร์เริ่มดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ธนาคารต้องถึงขั้นเพิ่มเงินเดือนอีก 30% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 10 ปี เพื่อรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ไม่ให้ย้ายไปทำงานกับคู่แข่ง
ฮ่องกงและสิงคโปร์กลายเป็นฮับของเหล่า Private Banker สำคัญในทวีปเอเชีย เพราะมีจำนวนของ Relationship Manager ที่ให้บริการผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงรวมๆ กันเกือบ 10,000 คน สอดคล้องกับการเติบโตของมหาเศรษฐีในทวีปเอเชียยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยข้อมูลจาก Capgemini ปีที่ผ่านมาทวีปเอเชียมีสินทรัพย์ของเหล่าเศรษฐีภายใต้การดูแลสูงถึง 21.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตมากกว่าทวีปอื่นๆ
RM แต่ละคนมีเฉลี่ย AUM 1 หมื่นล้านบาท!
Asian Private Banker ได้จัดอันดับ Relationship Manager จาก Private Bank หลายๆ ที่ในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยสินทรัพย์ภายใต้การดูแลเฉลี่ยต่อคนอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท! ทำให้ความต้องการแย่งตัวบุคลากรจากคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยที่อุตสาหกรรม Private Bank กำลังเริ่มตั้งไข่ แต่ก็ส่งสัญญาณล่วงหน้าแล้วว่าการแย่งชิงศึก Private Banker นั้นดุเดือดแน่นอน เพราะว่าธนาคารต่างประเทศเริ่มสนใจที่จะทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น และรวมไปถึงธนาคารในประเทศไทยด้วย
- ศึกชิงตัว Private Banker เมืองไทยเริ่มขึ้น เมื่อ SCB เสียผู้บริหาร และบุคลากรยังขาดแคลน
- ความต้องการผู้หญิงในตำแหน่ง Private Bank ในทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กว่าจะเป็น Private Banker นั้นไม่ใช่ง่ายๆ
Derrick Tan จาก Bank Of Singapore ซึ่งเป็นหน่วยงาน Private Banking ของธนาคาร OCBC กล่าวว่ากว่าจะหา Private Banker เก่งๆ นั้น ธนาคารจะต้องเริ่มรับสมัครเด็กจบจากมหาวิทยาลัยดีๆ โดยเฉพาะถ้าหากนักศึกษาที่จบใหม่พูดภาษาจีนได้จะเยี่ยมมาก
นอกจากนี้ยังต้องผ่านโปรแกรมการฝึกนานถึง 18 เดือน และกว่าจะทำหน้าที่ได้ดีจริงๆ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 ปี ถึงจะสามารถดูแลสินทรัพย์ลูกค้าเฉลี่ย 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อคน
ต้องมองยาวๆ ด้วย
ทางด้าน Benjamin Cavalli ซึ่งเป็น Head of Private Banking for South & Southeast Asia จาก Credit Suisse ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่เหล่า Private Banker ย้ายที่ทำงานบ่อยๆ ประมาณ 2-3 ปี นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะว่านั่นคือคุณกำลังสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูกค้า
ตัวเขายังได้ทิ้งท้ายว่าการดูแลลูกค้าของเหล่า Private Banker ต้องไม่มองแค่สั้นๆ แค่ลูกค้ารุ่นเดียว แต่ต้องมองระยะยาวด้วย โดยส่วนใหญ่ธนาคารอยากจะดูแลลูกค้าไปถึง 5-6 รุ่นด้วยซ้ำ
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา