ระบบขนส่งสาธารณะกรุงเทพติดอันดับ 39 ของโลก: คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกและเอเชียแปซิฟิก

ผลการจัดอันดับระบบขนส่งสาธารณะกรุงเทพ มีระดับคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกและเอเชียแปซิฟิก! นี่แค่ในกรุงเทพนะ ถ้าต่างจังหวัด หนักกว่านี้

ถ้าเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในกรุงเทพลำบาก ไม่ต้องแปลกใจ มีคนวัดระดับคะแนนภาพรวมความพร้อมของการเดินทางมาแล้ว พบว่า ภาพรวมการเดินทางในกรุงเทพ ระดับคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสียอีก

มาดูกันหน่อยดีกว่า 38 อันดับแรกมีที่ไหน ที่เรียกว่าดีกว่ากรุงเทพบ้าง

ฮ่องกง ซูริค สตอกโฮล์ม สิงคโปร์ เฮลซิงกิ ออสโล โตเกียว ปารีส เบอร์ลิน ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม โซล นิวยอร์ก ซิดนีย์ มอสโคว ซานฟรานซิสโก มิวนิค มิลาน วอซอร์ ชิคาโก บาเซโลนา แวนคูเวอร์ กัวลาลัมเปอร์ วอชิงตัน ดีซี อิสตันบูล มาดริด ปักกิ่ง ดับลิน ดูไบ บัวโนสไอเรส มอนทรีออล เซี่ยงไฮ้ บอสตัน โตรอนโต เดลี ซานติอาโก ลอสเองเจลิส จาการ์ตา

บริษัทที่ปรึกษา Oliver Wyman และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้เผยแพร่ดัชนี Urban Mobility Readiness Index ที่ศึกษาความพร้อมในการเดินทางในเมืองใหญ่ 60 แห่งในโลกประจำปี 2022 โดยประกอบด้วยการจัดลำดับเมืองเป็น 3 กลุ่ม 

  • ดัชนี Urban Mobility Readiness – ลำดับความพร้อมของการเดินทางในเมืองในภาพรวม วัดจาก KPI 57 อย่างที่ครอบคลุมตั้งแต่ผลกระทบทางสังคม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ประสิทธิภาพของระบบจนส่ง 
  • ดัชนีย่อย Sustainable Mobility – ลำดับความยั่งยืนของการขนส่งสาธารณะ โดยดูว่าระบบขนส่งสาธารณะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่
  • ดัชนีย่อย Public Transit – ลำดับระบบขนส่งสาธาณะที่ดีที่สุด วัดจากประสิทธิภาพของการคมนาคม ความหนาแน่นของรถโดยสารสาธารณะ และอัตราการใช้ระบบขนส่งสาธารณะของคนในเมือง

กรุงเทพฯ อยู่ตรงไหนของระบบขนส่งสาธารณะโลก

ในการจัดอันดับเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุดตามดัชนีย่อย Public Transit  กรุงเทพฯ คว้าอันดับที่ 39 จาก 60 เมือง โดยได้คะแนน 46.6% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 51.7% ตามดัชนีเผยว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการคมนาคมหลายหลายทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร และการคมนาคมแต่ละแบบเชื่อมโยงกันได้ดี 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายจราจรของประเทศไทยไม่ได้มีความเข้มงวดเพียงพอ ทำให้กรุงเทพฯ มีระดับความปลอดภัยบนท้องถนนต่ำและเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่มาก

ที่น่าสนใจ คือ จากการศึกษาโดยหน่วยงานในสหรัฐอเมริกามองว่า ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ มีราคาไม่แพงและมีระดับเหมาะสมกับรายได้ของคนในท้องถิ่น แต่คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและใช้บริการขนส่งสาธารณะโดยตรงมองว่าราคาค่าโดยสาร โดยเฉพาะรถไฟฟ้า BTS ที่เป็นหัวใจของการขนส่งในกรุงเทพฯ ไม่สัมพันธ์กับรายได้ของคน พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ แพงเกินไป

แม้มีการเสนอในที่ประชุม ครม. ให้ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับบริษัท บีทีเอสซี แลกกับการกำหนดเพดานค่าโดยสารอยู่ที่ 65 บาทตลอดสาย ศูนย์สิทธิผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยังออกมาคัดค้านเช่นกันว่า ค่าโดยสารไม่ควรเกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำต่อวันที่อยู่ที่ประมาณ 350 บาท 10% ก็คือไม่ควรเกิน 35 บาท

ภาพรวมตามดัชนี Urban Mobility Readiness ของ กรุงเทพฯ อยู่ในลำดับที่ 44 ในปี 2022 จากอันดับที่ 46 ในปี 2021 โดยได้คะแนน 40.5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 53.7% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ที่ 51.9% สำหรับดัชนีย่อย Sustainable Mobility กรุงเทพฯ คว้าอันดับที่ 47 ไปครอง

10 เมืองแรกที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุด

ตามดัชนีย่อย Public Transit เมืองที่มีระบบขนส่งดีที่สุด 10 เมืองแรกในปี 2022 มีดังนี้

#1 ฮ่องกง ฮ่องกง
#2 ซูริค สวิสเซอร์แลนด์
#3 สตอร์คโฮล์ม สวีเดน
#4 สิงคโปร์ สิงคโปร์
#5 เฮลซิงกิ ฟินแลนด์
#6 ออสโล นอร์เวย์
#7 โตเกียว ญี่ปุ่น
#8 ปารีส ฝรั่งเศส
#9 เบอร์ลิน เยอรมนี
#10 ลอนดอน สหราชอาณาจักร

ฮ่องกงเป็นเมืองที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีสุดในโลกโดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 77% มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 51.7% ผู้คนในฮ่องกงสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะในเมืองได้ เมืองมีสถานีกระจายตัวกันอยู่หลายแห่ง และรถไฟมีโครงสร้างพื้นฐานดี นักวิจัยมองว่ายังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้ ฮ่องกงควรใช้แอพลิเคชันมาช่วยในการแสดงแผนที่ระบบการขนส่งให้เดินทางง่ายขึ้นแม้ว่าฮ่องกงจะมีระบบการขนส่งสาธารณะดีที่สุดในโลก แต่โดยภาพรวมระบบการขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพยังคงกระจุกตัวอยู่ในทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่

10 เมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะแย่ที่สุด

สำหรับเมืองที่มีระบบขนส่งยอดแย่ 10 อันดับ มีดังนี้

#51 ไคโร อียิปต์
#52 อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
#53 กาซาบลังกา โมร็อกโก
#54 กีโต เอกวาดอร์
#55 เคปทาวน์ แอฟริกาใต้
#56 มะนิลา ฟิลิปปินส์
#57 โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้
#58 ริยาด ซาอุดิอาระเบีย
#59 ไนโรบี เคนยา
#60 เจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย

เมืองเจดดาห์ ในประเทศซาอุดิอาระเบียขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีการขนส่งแย่ที่สุด ในขณะที่เมืองหลวงอย่างกรุงริยาดก็ติด 10 อันดับระบบขนส่งยอดแย่ด้วยเช่นกัน การศึกษาพบว่าเจดดาห์เป็นเมืองที่คนใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีป้ายรถเมล์กระจายตัวอยู่น้อยทำให้มีผู้ใช้ระบบการขนส่งสาธารณะน้อยตามไปด้วย นอกจากนี้ ขณะนี้ภายในเมืองยังไม่มีรถไฟฟ้าแต่คาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินได้ในปี 2030 

ภาพรวมการเดินทางในเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ตามดัชนี Urban Mobility Readiness ค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 51.9% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่เล็กน้อยที่อยู่ที่ 53.7%

แม้ว่าฮ่องกงจะคว้าอันดับที่ 1 ในการเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุดในโลกและดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก แต่ในภาพใหญ่ตามดัชนี Urban Mobility Readiness เมืองสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์กลับคว้าอันดับ 1 ในเอเชียไปครอง และคว้าอันดับที่ 4 ของโลก โดยมีคะแนนอยู่ที่ 70.2% 

เมืองที่มีคะแนนสูงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของโลกและค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับ 4 ของโลก) โตเกียว (อันดับ 15) ฮ่องกง (อันดับ 16) โซล (อับดับ 19) ซิดนีย์ (อันดับ 21) ปักกิ่ง (อันดับ 29) และเซี่ยงไฮ้ (อันดับ 33) 

ขณะที่เมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ (อันดับ 40) กรุงเทพฯ (อันดับ 44) จาการ์ตา (อันดับ 46) เดลี (อันดับ 50) มุมไบ (อันดับ 52) และมะนิลา (อันดับ 58)

ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในภาพรวมเมืองอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทั้งระบบขนส่งบนท้องถนนและระบบราง โดยมีฮ่องกงเป็นเมืองที่มีระบบการขนส่งที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัญหามลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียงยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในเอเชีย 

แม้ว่าในเมืองที่พัฒนาแล้วอย่างกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนจะเริ่มสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็มีแนวโน้มว่าเมืองในยุโรปจะแซงหน้าในการเป็นเมืองที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ยิ่งไปกว่านั้น เมืองที่กำลังพัฒนาอย่างจาการ์ตาและมะนิลาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพราะการใช้ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ยังเป็นการคมนาคมที่ใช้บ่อยที่สุด

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อลำดับเมืองในเอเชียตามดัชนี Urban Mobility Readiness อย่างสิงคโปร์ที่เคยคว้าอันดับ 1 ไปในปี 2021 กลับหล่นลงมาอยู่ที่อันดับ 4 เพราะมาตรการล็อคดาวน์ป้องกันโควิดทำให้การขนส่งขาดความคล่องตัว จนถูกเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา, เมืองสตอร์คโฮล์ม สวีเดน และเมืองเฮลซิงกิ ฟินแลนด์แซงหน้าคว้าอันดับที่ 1-3 ตามลำดับ

มันควรเป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่เราออกจากบ้านช้าแค่ 10 นาทีแต่กลับไปทำงานไม่ทันเพราะเราอาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็แก้ปัญหารถติดไม่ได้? การพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพก็อาจเป็นแรงจูงใจสำคัญให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงแล้วมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น เพราะหากรถเมล์ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ รถไฟฟ้า BTS ยังขัดข้องอยู่บ่อย ๆ คนกรุงเทพฯ ก็คงต้องยอมอดทนกับรถติดและขับรถยนต์ส่วนตัวไปทำงานอยู่ดี

ที่มา – Oliver Wyman และ University of California, Oliver Wyman 2

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา