บางกอก โพสต์ อาจขายหัว โพสต์ทูเดย์ ต่อเนื่องกรณีปลดพนักงานทั้งหมดช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565

บมจ. บางกอก โพสต์ อยู่ระหว่างเจรจาขายหัวหนังสือพิมพ์ธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ ให้กับผู้สนใจ ต่อเนื่องจากกรณีปลดพนักงานของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทั้งหมดภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 นี้

โพสต์ทูเดย์

โพสต์ทูเดย์ กับการยืนหยัดไม่ไหว

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์กล่าวกับ Brand Inside ว่า กลุ่มบางกอกโพสต์ หรือ บมจ. บางกอก โพสต์ อยู่ระหว่างเจรจาขายหัวหนังสือพิมพ์ธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ เนื่องจากไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างที่ต้องการ และการเก็บ บางกอก โพสต์ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันบนแผงเล่มเดียวของไทยไว้เท่านั้นคือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง

“จริง ๆ บางกอก โพสต์ มีแผนขายหัว โพสต์ทูเดย์ มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถปิดดีลนี้ได้ เนื่องจากราคาของหัวนี้ค่อนข้างสูง” แหล่งข่าวกล่าว พร้อมเสริมว่า หลังจากปิดฉบับเล่มมาอยู่บนออนไลน์เพียงอย่างเดียวก็ยังสู้ในศึกสื่อออนไลน์ที่แข่งขันอย่างเข้มข้นไม่ได้

แหล่งข่าวเสริมว่ามีการประเมิน ราคาหัว “โพสต์ทูเดย์” มีการเสนอขายอยู่ที่ 30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงไม่น้อย แต่หากเจรจากันจบอาจใช้วิธีผ่อนชำระเช่นเดียวกับที่เคยมีการซื้อหัวหนังสืออื่นๆ ก็เป็นได้

ทั้งนี้ บมจ. บางกอก โพสต์ ประกาศหยุดทำตลาดฉบับเล่มของหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ฟรี เอ็มทูเอฟ เมื่อปี 2562 เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนสะสม โดยส่วน โพสต์ทูเดย์ จะเหลือเพียงช่องทางออนไลน์เท่านั้น ผ่านการใช้ทีมงานออนไลน์เดิมขับเคลื่อน และช่วงปี 2564 มีการจ้างทีมงานเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากขายหัว ยังมีเรื่องปลดพนักงาน

นอกจากนี้ บมจ. บางกอก โพสต์ ยังมีเดินหน้าปลดพนักงานทั้งหมดของ โพสต์ทูเดย์ โดย ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า พนักงานที่ได้รับผลกระทบได้รับหนังสือเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เบื้องต้นมีพนักงานราว 20 คนที่ได้รับผลกระทบนี้ ถือเป็นการปิดตัวอีกครั้งหลังพยายามรุกตลาดออนไลน์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ในทางกลับกัน บมจ. บางกอก โพสต์ ค่อนข้างประสบความสำเร็จในโลกออนไลน์ (วัดตามยอด Engagement) กับหน้าเพจเฟสบุ๊ก NewsClear ที่เน้นทำวีดีโอสัมภาษณ์ธุรกิจ SME และกลยุทธ์การทำธุรกิจต่าง ๆ แต่จากที่สำรวจยังไม่มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนมากนัก และยังไม่มีการแจ้งว่าพนักงานส่วนนี้โดนเลิกจ้างด้วยหรือไม่

ด้านหนังสือพิมพ์ บางกอก โพสต์ เปรียบเสมือนหอคอยงาช้างขององค์กรที่จะล้มไม่ได้ เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันฉบับเดียวของไทย และเก่าแก่ที่สุดในตลาด (ตีพิมพ์ฉบับแรกปี 2489) ซึ่งในหนังสือพิมพ์ยังมีการลงโฆษณาจากทั้งบริษัทใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

เปิดประวัติหนังสือพิมพ์ธุรกิจ โพสต์ทูเดย์

หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ ตีพิมพ์ฉบับแรกในวันที่ 7 ก.พ. 2546 เนื่องจากเวลานั้นมีช่องวางของหนังสือพิมพ์ธุรกิจอยู่ และรูปแบบการนำเสนอจะทำแบบหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ของต่างประเทศ เช่น สามารถอ่านข่าวหน้าหนึ่งได้จบภายในหน้านั้น ไม่มีหน้าต่อข่าวเหมือนที่หนังสือพิมพ์ไทยทุกฉบับในเวลานั้นทำกัน และมีหน้าวิเคราะห์เป็นอีกจุดขาย

การเริ่มต้นธุรกิจของ โพสต์ทูเดย์ ใช้กลยุทธ์ดึงนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน ผ่านการเสนอค่าตอบแทนที่จูงใจกว่า จนตัวหนังสือพิมพ์สามารถแข่งขันอย่างสูสีกับฝั่ง เนชั่น ที่ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เดอะ เนชั่น และหนังสือพิมพ์ธุรกิจ กรุงเทพธุรกิจ

นอกจากนี้ในช่วงประมูลช่องทีวีดิจิทัล หรือช่วงปี 2556 บมจ. บางกอก โพสต์ ยังขยายทีม โพสต์ทูเดย์ เพื่อไปรับผิดชอบ โพสต์ทีวี หน่วยธุรกิจผลิตคอนเทนต์ข่าวให้กับช่องโทรทัศน์ที่สนใจ แต่สุดท้ายตัวธุรกิจดังกล่าวก็ปิดตัว และเลิกจ้างพนักงานเช่นเดียวกับฝั่งหนังสือพิมพ์

เจาะรายได้ บางกอก โพสต์ ที่ยังอาการหนัก

สำหรับภาพรวมรายได้ของ บมจ. บางกอก โพสต์ ในปี 2564 มีรายได้รวม 423.1 ล้านบาท ลดลง 7% จากปี 2563 ที่ทำได้ 455.1 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ระบาด โดยรายได้ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และโฆษณาอยู่ที่ 368.1 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อน

ส่วนธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์อยู่ที่ 55.1 ล้านบาท ลดลง 13.4% จากปีก่อน โดยทางบริษัทพยายามปรับลดต้นทุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ลดพนักงาน ตัดขายโรงพิมพ์ และอาคารสำนักงาน แต่สุดท้ายเม็ดเงินโฆษณายังเข้ามาไม่มากพอ จนสุดท้ายปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 108 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 364 ล้านบาท

ด้านไตรมาส 1 ปี 2565 บมจ. บางกอก โพสต์ มีภาพรวมธุรกิจดีขึ้นเล็กน้อย รายได้รวมปิดที่ 95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นจากธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และโฆษณา 55.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% และธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ 10.4 ล้านบาท ลดลง 30.2% แต่ยังขาดทุนสุทธิ 42 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 87 ล้านบาท

ปัจจุบัน บมจ. บางกอก โพสต์ ฝั่งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และโฆษณา มีหนังสือพิมพ์ บางกอก โพสต์ และนิตยสารหัวนอก เช่น Elle และ Forbes เป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ มี บริษัท มัชรูม กรุ๊ป จำกัด เจ้าของรายการ อายุน้อยร้อยล้าน และอื่น ๆ เป็นฟันเฟืองสำคัญ

สรุป

เวลานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายของธุรกิจสื่อ แม้จะพยายามปรับตัวไปออนไลน์แค่ไหน แต่ด้วยใคร ๆ ก็ทำสื่อสารข้อมูลได้ จุดแข็งเรื่องหัวหนังสือพิมพ์อาจขายไม่ได้สำหรับคนยุคนี้ และต้องติดตามว่านอกจาก โพสต์ทูเดย์ แล้ว จะมีสื่อรายไหนอีกที่ปรับตัวไปออนไลน์ทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ต้องปลดพนักงานเพื่อรักษาภาพรวมธุรกิจอื่น ๆ ของตัวเองไว้

อ้างอิง // Set 1, 2, ประชาชาติธุรกิจ, Bangkok Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา