หรือเทรนด์บาทอ่อนค่าจะกลับมา? เมื่อธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายสวนคาดการณ์ตลาด

ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่ามาตั้งแต่ต้นปี 2019 ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยหลายแห่งก็มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% เพื่อถ่วงเสถียรภาพทางการเงินของไทยให้มั่นคง

แต่ผิดคาดกนง. ลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ใครๆ คาดการณ์ไว้โดยกนง.ยอมรับเศรษฐกิจไทยชะลอตัวกว่าที่คิด เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างไร?

ภาพจาก Shutterstock

บาทอ่อนค่าทันทีเมื่อ กนง.ประกาศลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี

เมื่อเช้านี้ (7 ส.ค.2019) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 30.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ารวดเร็วจนอยู่ที่ระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ในระยะสั้นค่าเงินบาทจะอ่อนค่าจากแรงเซอร์ไพรส์ที่กนง.ลดดอกเบี้ยสวนทางกับคาดการณ์ตลาด แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติยังดูส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ สัปดาห์ที่ผ่านมาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไป ก็ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ-ไทย อยู่ในระดับเท่าเดิม อาจจะเห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับมาที่ไทยเพราะต่างชาติยังมองบาทเป็น Safe Haven

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาจากธปท. ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกไทยครึ่งปีแรกติดลบ 4.1% สอดคล้องกับธปท. ที่ก่อนหน้านี้ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทย GDP ที่ปี 2019 มาอยู่ที่ 3.3% ในระยะต่อไปตลาดจับตามองว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไหม  และจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อไร เช่น การประชุมในเดือนก.ย. 2019 หรือต้นปี 2020

ส่วนอีกสาเหตุที่ธปท. เลือกจะลดดอกเบี้ยเพราะอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่า 1% ซึ่งเป็นขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-4%

ทั้งนี้จากต้นปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันค่าเงินบาทยังแข็งค่ามากกว่า 5% และซึ่งค่าเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเพื่อนบ้านกลายเป็นความเสี่ยงที่ทุกฝ่ายจับตามอง ในสถานการณ์ที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังเพิ่มสูงขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

การลดดอกเบี้ยของธปท.อาจไม่ส่งผลกระทบต่อ ดอกเบี้ยเงินกู้หรือเงินฝากในไทย

สาเหตุที่การลดอกเบี้ยนโยบายในไทยอาจจะไม่ส่งผลกระทบให้ ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในไทยยังสูงมาก ธนาคารไม่จำเป็นต้องเร่งหาเงินฝากเพื่อปล่อยกู้สินเชื่อให้มากขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อยังสูงมากทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เพื่อการแข่งกันกับนธาคารอื่นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในช่วงสิ้นปีนี้ ธปท. เตรียมออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้เสียรายบุคคล และเพื่อลดหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตามองยังมาจากเรื่องต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ธนาคารกลางยุโรป การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึง Brexit

สรุป

การลดอัตราดอกเบี้ยมีผลโดยตรงกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่งออกมักเข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า แต่การลดอัตรานโยบายในทางเศรษฐศาสตร์ยังหมายถึงธนาคารกลางมองว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ต้องลดดอกเบี้ยลงเพื่อให้คนนำเงินออกมาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เท่ากันทำให้นักลงทุนเลือกจะดูภาพรวมเศรษฐกิจ สถานการณ์ในประเทศควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยก่อนเลือกลงทุนที่ใดที่หนึ่ง

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา