ลูกบ้านแอชตันอโศก ขอมาตรการเยียวยาจาก “อนันดา” หลังผ่านมา 30 วันยังเงียบ

กลุ่มลูกบ้านแอซตันอโศก ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เรียกร้องให้บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีมาตรการเยียวยากลุ่มลูกบ้านอย่างเป็นรูปธรรม หากไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ใน 14 วันนับจากนี้ จะยกระดับข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการและ/หรือผู้พัฒนาโครงการต่อไป

ashton

หลังจากมีคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ก.ค.​64 คดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยให้มีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา

ทางกลุ่มลูกบ้าน จำนวนกว่า 1,000 ชีวิตจาก 600 ครอบครัว เข้าใจว่าทาง อนันดา น่าจะได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานราชการหรือผู้พัฒนาโครงการ จัดให้มีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

อ่านประกอบ

สถาบันการเงินปฏิเสธ Retention/Refinance

ล่าสุด สถาบันการเงินที่เคยให้สินเชื่อกับลูกบ้าน ปฏิเสธการให้ Retention ดอกเบี้ยวงเงินกู้ยืมเดิม และสถาบันการเงินใหม่ปฏิเสธการอนุมัติคำขอสินเชื่อ Refinance โดยระบุว่า หลักประกันสินเชื่อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการแอซตันอโศกอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

อีกทั้งในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ให้ทำการรื้อถอนอาคารชุดแอชตันอโศก กลุ่มลูกบ้านจะได้รับความเสียหายร้ายแรง ซึ่งอาจไม่ได้รับการชดเชยจากหน่วยงานราชการหรือผู้พัฒนาโครงการ ถือเป็นกรณีร้ายแรงยิ่งกว่าการถูกเวนคืนที่ดิน เพราะการเวนคืนจะได้รับการเยียวยาเป็นค่าที่ดิน แต่กรณีนี้อาจไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิด และตกเป็นเหยื่อของความไม่น่าเชื่อถือของใบอนุญาตที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ โดยไม่อาจรู้ล่วงหน้าก่อนทำสัญญาซื้อขายได้

ดังนั้น กลุ่มลูกบ้านแอชตันอโศก ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อต่อสถาบันการเงินรวมกันประมาณ 3,000 ล้านบาท จะต้องเสียดอกเบี้ยส่วนต่างเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2-3 จากการไม่ได้รับอนุมัติ Retention หรือ Refinance คิดเป็นค่าเสียหายกว่า 60-90 ล้านบาทต่อปี หากคดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณาอีก 5 ปี จะเป็นจำนวนเงินประมาณ 300-450 ล้านบาทโดยไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ

นอกจากนี้ กลุ่มลูกบ้านยังไม่สามารถขายห้องชุดให้แก่บุคคลภายนอกได้เลยเนื่องจากไม่มีบุคคลใดยินยอมรับซื้อห้องชุดภายในโครงการแอซตันอโศกอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่าน กลุ่มลูกบ้านกว่า 300 คน และผู้จัดการนิติบุคคล โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการนิติบุคคลได้ทำหนังสือไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้มีการประชุมเพื่อรับทราบปัญหา ซึ่งถึงวันนี้ (30 ส.ค.64) ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งหากครบ 14 วันจะยกระดับข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานราชการและ/หรือผู้พัฒนาโครงการในโอกาสต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา