คุยกับ อริยะ พนมยงค์ หลังจบงานใหญ่ ทิศทาง LINE ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป?

หลังจบงาน LINE CONFERENCE 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น ทิศทางของธุรกิจ LINE ต่อจากนี้น่าติดตามมากขึ้น เพราะพูดเรื่องใหม่ๆ อย่างบล็อกเชน ฟินเทค และ AI

สิ่งที่คนไทยอยากรู้มากที่สุดคือ สินค้าและบริการเหล่านั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ที่สำคัญคือจะเข้ามาอย่างไรและเมื่อใด คำตอบอยู่ในบทสัมภาษณ์ อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ด้านล่างนี้

ภาพรวม LINE ประเทศไทย | อริยะ เอาอะไรไปโชว์ให้โลกดู

เริ่มต้นที่ภาพรวมกันก่อน อย่างที่รู้ว่าในปีนี้ บนเวทีใหญ่ของ LINE ได้มีการเปิดโอกาสให้หัวเรือใหญ่ของ 2 ประเทศขึ้นมาพูดบนเวทีเป็นครั้งแรก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ส่วนอีกหนึ่งประเทศคือไต้หวัน

  • สำหรับไทย คำถามก็คือ LINE ประเทศไทยเอาอะไรไปโชว์ให้โลกดูบ้าง?

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เริ่มต้นด้วยโชว์ตัวเลขให้ชาวโลกเห็นว่า ตลาดของ LINE ในประเทศไทยนับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น มีฐานลูกค้าถึง 45 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ

  • พูดกันให้ชัดไปเลยก็คือว่า 95% ของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เป็นฐานลูกค้าของ LINE ด้วยเช่นกัน คิดเป็นตัวเลขคือ ในประเทศไทยมีคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ 45 ล้านคน ในจำนวนนี้ 42 ล้านคนใช้ LINE

จุดที่เรียกเสียงฮือฮาในงานได้คือ การที่ LINE ประเทศไทยพูดถึงกลยุทธ์การทำตลาดแบบ Hyper Localization พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างการซื้อสติกเกอร์ LINE ผ่านตู้บุญเติม ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยที่ใช้งานแบบ pre-paid และตอบโจทย์ยอดขายสติกเกอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันตู้บุญเติมพร้อมให้บริการทั่วประเทศแล้วกว่า 170,000 แห่ง

  • นี่คือการเข้าใจตลาดท้องถิ่นแบบลึกซึ้งของ LINE ประเทศไทย

อริยะ ยังได้พูดถึงธุรกิจของ LINE TV ที่ในปัจจุบันได้ขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มทีวีรีรันเบอร์ 1 ของโลกแซงเจ้าตลาดหน้าเก่าไปเรียบร้อยแล้ว ส่วน LINE TODAY อริยะ บอกว่า ปัจจุบันได้ขึ้นที่ 1 ของแพลตฟอร์รวบรวมข่าวสารทั่วฟ้าเมืองไทย ครบทุกหมวดหมู่ ครบทุกประเภท ในขณะที่ LINE MAN เติบโตอย่างรวดเร็วกว่า 10 เท่า แซงคู่แข่งในตลาดรายอื่นๆ ในด้านของ LINE TAXI เติบโตอยางต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สำคัญคือบริการของ LINE ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ส่วนสุดท้ายคือ LINE Pay ที่ล่าสุดได้จับมือ AIS และ Rabbit เป็นสัดส่วน 33.33% ก็ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในตลาดไทยที่หาตัวจับได้ยาก

ก้าวต่อไปของ LINE ประเทศไทย

หลังจากได้เห็นภาพรวมของ LINE ประเทศไทย และทิศทางของ LINE ญี่ปุ่นที่กำลังเดินหน้าไป

  • คำถามก็คือ LINE ประเทศไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันกับบริษัทแม่แค่ไหนและอย่างไรบ้าง?

อริยะ เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามนี้ว่า “ถ้าถามว่าอะไรที่เกิดที่ญี่ปุ่นจะเข้าไทยบ้าง อันนี้ตอบให้ชัดเจนได้ยาก แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องดูว่าอันไหนเหมาะสมกับไทย เช่น ฟินเทค, AI หรือแม้กระทั่งบล็อกเชน เท่าที่ตอบได้คือ ครึ่งปีหลัง 2018 จะได้เห็นบริการใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น”

  • แล้วอะไรบ้างที่จะเป็นของใหม่สำหรับ LINE ประเทศไทย?

คำตอบเท่าที่เรียบเรียงได้ก็คือ รูปแบบการโฆษณาแบบใหม่ของ LINE ที่จะเน้นไปที่ธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น อันนี้มาแน่ เพราะเรื่องโฆษณา LINE ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งโลก รวมถึง LINE Quick Game ที่หลายคนอยากให้มาในไทย อริยะ บอกว่ามีโอกาสสูงมากที่จะเข้ามาในประเทศไทย (รายละเอียดของ LINE เรื่องโฆษณาและเกม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ LINE CONFERENCE 2018)

อริยะ เน้นย้ำถึงเรื่องการนำเอาสินค้าและบริการจากบริษัทแม่เข้ามาในตลาดประเทศไทยว่า หัวใจสำคัญคือการใช้กลยุทธ์แบบ Hyper Localization คือต้องเข้าใจตลาดท้องถิ่นแบบลึกซึ้ง การทำธุรกิจในแต่ละประเทศต้องมีความเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่ทำแบบ universal หรือนโยบายเดียวครอบคลุมทุกประเทศ สิ่งเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์ เพราะผู้บริโภคแต่ละประเทศมีพฤติกรรมและความต้องการที่แตกต่างกัน

  • ถ้าถามว่าจุดเด่นของ LINE ณ วันนี้คืออะไร?

อริยะ บอกว่า แน่นอน LINE คือบริษัทเทคโนโลยี ในแง่หนึ่งเราเป็น Social Media แต่เราเป็นแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากรายอื่นๆ ในตลาดตรงที่ เราเป็นบริษัทที่ทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีจริงๆ “เชื่อว่าผู้สูงอายุในหลายครอบครัว หันมาใช้งานเทคโนโลยี ก็เพราะเล่น LINE” พูดอีกอย่างก็คือ LINE เป็นบริษัทที่ผู้บริโภคยอมให้เรา(เทคโนโลยี)เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต

อย่างไรก็ตาม อริยะ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุดในปีนี้ “คือการที่ประเทศไทยและไต้หวันได้ขึ้นพูดบนเวที เพราะมันหมายความว่า เราสำคัญเพียงพอที่จะขึ้นเป็นตลาดหลัก และยังแสดงให้เห็นว่าตลาดประเทศไทยสำคัญกับ LINE (บริษัทแม่)อย่างไรบ้าง”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา