วิเคราะห์ Telenor และ Axiata ควบรวมธุรกิจในเอเชีย ใหญ่ขึ้น ผลพลอยได้คือความชัดเจน

Brand Inside วิเคราะห์ถึงการควบรวมธุรกิจในเอเชียของ Telenor กับ Axiata ผู้ให้บริการโทรศัพท์รายใหญ่ในประเทศมาเลเซียว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับธุรกิจโทรคมนาคมในเอเชียอย่างไร

ภาพจาก Shutterstock

เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมในเอเชียอีกครั้งหลังจากที่ Telenor และ Axiata ได้ประกาศถึงการควบรวมธุรกิจในเอเชีย โดยบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่มีรายได้อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทันที นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นน่าจะมีมูลค่าตลาดใหญ่ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมีขนาดเท่าๆ กับ Singapore Telecom หรือ Singtel ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทันที

คาดว่าการควบรวมธุรกิจในเอเชียของทั้ง 2 บริษัทจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้ และบริษัทใหม่นี้จะมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศมาเลเซีย

Disclaimer: บทความนี้เป็นบทความเชิงวิเคราะห์เท่านั้น ไม่ได้ชี้นำในเรื่องการลงทุนแต่เพียงอย่างใด 

มารู้จักกับ Telenor และ Axiata สักหน่อย

สำหรับ Telenor คนไทยอาจรู้จักดีเนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ DTAC โอเปอเรเตอร์อันดับ 3 ของไทย โดย ตัวบริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐบาลนอร์เวย์ มีพื้นที่ให้บริการในยุโรปรวมไปถึงยุโรปตะวันออกบางประเทศ และในเอเชีย เช่น มาเลเซีย ปากีสถาน พม่า ไทย บังคลาเทศ โดยรายได้จาก DTAC ของประเทศไทยคิดเป็นรายได้ประมาณ 15% ของรายได้ Telenor

ขณะที่ Axiata แม้คนไทยจะไม่คุ้นมากนัก แต่เป็นโอเปอเรเตอร์อันดับ 1 ของประเทศมาเลเซีย แต่ลงทุนในหลายๆ ประเทศ เช่น ครองตลาดอันดับ 2 ในอินโดนีเซีย กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล เป็นต้น นอกจากนี้ Axiata ก็เคยมีลงทุนกับสามารถ i-Mobile มาแล้วอีกด้วย ก่อนที่ท้ายที่สุดจะขายหุ้นคืนให้กับกลุ่มสามารถไปในท้ายที่สุด

ภาพจาก Shutterstock

ปัญหาที่เหมือนๆ กัน

ปัญหาที่ทั้ง Telenor และ Axiata พบก่อนการควบรวมธุรกิจในเอเชียคือ การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี 4G ทำให้ต่างฝ่ายต้องใช้เงินลงทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเครือข่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาโทรคมนาคม และระบบที่เกี่ยวข้องกับเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลระดับหลักหมื่นล้านบาท ยังรวมไปถึงความท้าทายคือเทคโนโลยี 5G ที่กำลังรออยู่ข้างหน้า

นอกจากนี้ในทวีปเอเชียคือการแข่งขันที่รุนแรงของผู้ให้บริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ที่ในบางประเทศทั้ง 2 เจ้านี้ต้องสู้กันเองอย่างเช่นในมาเลเซีย หรือต่างฝ่ายต่างเจอ เช่น

  • ประเทศสิงคโปร์ที่ Axiata ต้องขายหุ้นในผู้ให้บริการอย่าง M1 ออกไปให้กับบริษัทในสิงคโปร์ เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศสิงคโปร์เปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าบริษัทมีแนวความคิดที่จะขายหุ้นในประเทศต่างๆ ออกไปอีกด้วย
  • ในไทยเอง DTAC ก็ประสบปัญหาการแข่งขันจาก AIS และ True อย่างหนักทำให้สูญเสียตำแหน่งผู้เล่นอันดับ 2 ไป นอกจากนี้ยังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับข่าวลือที่ว่า Telenor จะออกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยไปเลย และจะไปเน้นโฟกัสตลาดใหม่ๆ แทน เช่น พม่า เป็นต้น
ข้อมูลจาก Axiata

ควบรวมกิจการแล้วดีอย่างไร

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คือบริษัทใหม่จะมีลูกค้าในมือรวมกว่า 269 ล้านรายทันที นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทใหม่สามารถโฟกัสตลาดนี้ได้ทันที ซึ่งจะเห็นได้จากรูปด้านบนว่าบริษัทใหม่จะกลายเป็นผู้นำตลาดโทรคมนาคม 1 ใน 3 ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ให้บริการในกลุ่มประเทศที่กำลังเจริญเติบโตสูงที่สุดในเอเชียอีกด้วย

ไม่เพียงแค่นั้นคาดว่ารายได้จากบริษัทใหม่นี้จะมากถึงประมาณ 364,000 ล้านบาท และจะทำให้สามารถกำหนดทิศทางในการจัดสรรเงินลงทุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยเฉพาะเสาโทรคมนาคม ซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายที่จะทำให้ลูกค้ายังอยู่กับผู้ให้บริการ

ส่วนในประเทศที่แข่งขันกันเองอย่างมาเลเซียก็จะเห็นบริษัทลูกอย่าง Celcom และ Digi ควบรวมกิจการกัน ยิ่งทำให้ในกิจการในประเทศมาเลเซียแข่งแกร่งกว่าเดิม จากเดิมที่ 2 เจ้านี้ต้องต่อสู้กันมาโดยตลอด

การควบรวมธุรกิจในเอเชียของ 2 เจ้านี้ยังส่งผลในเรื่องของความชัดเจนที่เพิ่มมากขึ้นของ Telenor ในไทย ว่าจะยังเน้นในภูมิภาคนี้มากขึ้น และรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ของ Axiata ว่าจะไม่มีการขายหุ้นออกไปแล้ว ยกเว้นแค่กรณีของ Robi ในประเทศบังคลาเทศเท่านั้น

หลังจากนี้เราจะได้เห็นกลยุทธ์ใหม่ๆ จากบริษัทนี้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เทียบได้ว่าไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป

ข้อมูลจาก Axiata

ท่าไม้ตายพิเศษ

บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการ นอกจากที่จะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลถึงเรื่องของเงินทุน แต่บริษัทใหม่ยังมีท่าไม้ตายที่สามารถงัดมาใช้ได้อีกรอบคือแผนการ IPO บริษัทใหม่นี้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2-3 ปี ทั้งในมาเลเซีย และตลาดต่างประเทศ แม้จะทำให้ Telenor และ Axiata ต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลงมาก็ตาม

ยังรวมไปถึงบริษัทใหม่ที่ขนาดใหญ่ยักษ์ ทำให้สามารถระดมทุนได้มหาศาลอย่างมาก ซึ่งดีกว่าการที่นำบริษัทในแต่ละประเทศที่ยังไม่ได้ IPO มาทยอย IPO ซึ่งอาจไม่ได้เงินมากเท่านี้ และยังทำให้โครงสร้างการถือหุ้นดูปวดหัวอีกด้วย

นอกจากนี้บริษัทใหม่ยังสามารถที่จะ IPO บริษัทเสาโทรคมนาคมที่ชื่อว่า edotco ออกมาได้อีกรอบหลังจากรวบรวมเสาโทรคมนาคมจาก Telenor Asia มีเสาโทรคมนาคมรวมทั้งหมดประมาณ 60,000 ต้น และจะกลายเป็นว่ากลายเป็นบริษัทเสาโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลกทันที

ที่มาAxiata Investor Relations, The Star Online [1], [2], Strait Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ