รายงานล่าสุดจากสถาบันคลังสมอง Carnegie ระบุว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของ Joe Biden จะส่งผลดีต่อคนชั้นกลาง ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดงบประมาณด้านความมั่นคง นโยบายต่างประเทศยุคไบเดนจะมีลักษณะถ่อมตัวมากยิ่งขึ้น ทะเยอทะยานน้อยลง ซึ่งบุคคลสำคัญที่รายงานพูดถึงนอกจากไบเดน คือการเลือกคนมาไว้เป็นมือขวาคู่ใจ
Under President Biden, we will measure our foreign policy against a simple metric: Will it make the lives of working people better, safer, easier? The United States will again be engaged with the world, animated by a foreign policy for the middle class. https://t.co/ciGjbnXsbg
— Jake Sullivan (@jakejsullivan) December 30, 2020
Biden เลือกมือขวาแต่ละคน น่าสนใจทั้งนั้น
คนแรกคือ Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ คนนี้คือผู้ช่วยเขียนรายงานและเป็นที่ปรึกษาให้ไบเดนตลอดการทำแคมเปญเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยฮิลลารี คลินตันเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศด้วย เขาเลือกเจคเพราะต้องการนำความคิดที่สดใหม่ปรับทิศทางนโยบายด้านการต่างประเทศ
ไบเดนบอกว่า เจคเข้าใจวิสัยทัศน์ของเขา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงของชาติ เจคจะมาช่วยชี้แนะในการดำเนินนโยบายต่างประเทศสำหรับคนชนชั้นกลางมากขึ้น ครอบครัวของเจคสอนให้เขารู้คุณค่าของการทำงานหนัก การประพฤติตัวที่เหมาะสม การบริการและการเคารพต่อผู้อื่น
I am humbled and excited by this call to serve. The scale of the challenges ahead demands a government that works for all Americans. We must restore trust in government through strong and equitable domestic policy that builds back better here at home. Let's GO! pic.twitter.com/lkCHXA0pXI
— Susan Rice (@AmbassadorRice) December 10, 2020
คนที่สองคือ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ Susan Rice เธอเชี่ยวชาญนโยบายต่างประเทศมายาวนาน เป็นผู้อำนวยการสภานโยบายแห่งทำเนียบขาว เป็นผู้เชื่อมประสานความร่วมมือระหว่างทีมความมั่นคงแห่งชาติและทีมเศรษฐกิจ ไรซ์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจคและ Brian Deese ผู้ที่ไบเดนเลือกให้เป็นผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ
ไบเดนกล่าวว่า ทั้งนโยบายภายในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายความมั่นคงจะทำงานสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ใช่เพียงเท่านี้ที่ไบเดนให้ความสำคัญ แต่เขายังมีกลยุทธ์ใหม่ในการเลือกผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เขาเลือก Katherine Tai อัยการสาวผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า จบมาจากมหาวิทยาลัย Yale และ Harvard แถมยังมีพ่อแม่ที่เป็นคนจีนอพยพไปไต้หวันและมาตั้งรกรากที่อเมริกาด้วย การแต่งตั้ง Tai เป็นที่โจษก์จันกันมากว่าตั้งใจเลือกเพื่อมาต่อกรกับจีน
ไบเดนกล่าวว่า การค้าเป็นเสาหลักสำคัญที่จะทำให้ศักยภาพด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เป็นนโยบายต่างประเทศเพื่อคนชั้นกลาง (ไบเดนกล่าวย้ำถึงคนชั้นกลางซ้ำอีกครา) มีการคาดการณ์ว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไบเดนนี้จะแตกต่างทั้งจากสมัยทรัมป์และโอบามา
เอ็ดเวิร์ด อัลเดน นักวิจัยอาวุโสจาก CFR ระบุว่า การเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่การสร้างโอกาสที่ปลอดภัยแก่ธุรกิจที่ดำเนินโดยบริษัทสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องที่จะทำให้ราคาสินค้าถูกลงเพื่อผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งรายงานจากคาร์เนกี้นี้ สัมภาษณ์จากผู้คนนับร้อยรายจากเจ้าของธุรกิจ เกษตรกร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในเมืองโอไฮโอ เนบราสก้า และโคโลราโด ซักถามเกี่ยวกับความคิดของพวกเขาที่มีต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
Here’s to 2021. pic.twitter.com/9HAQOSWgvO
— Joe Biden (@JoeBiden) January 1, 2021
สหรัฐฯ ต้องแข็งแกร่งขึ้น ใช้นโยบายทั้งสายเหยี่ยวและพิราบควบคู่กัน
หลังจากที่สหรัฐฯ มีความสำคัญเหนือใครราวสามทศวรรษแล้ว ชนชั้นกลางอเมริกันพบว่า ชนชั้นตนเองเปราะบางที่สุด โลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดความไม่สมส่วนจากการได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นชนชั้นนำระดับบนที่มีเพียง 1% ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์มหาศาล ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
รายงานดังกล่าวของคาร์เนกี้ไม่ได้แนะนำว่า ไบเดน ควรจะเข้าร่วมวงเจรจาภาคีทางเศรษฐกิจ TPP หรือไม่ แต่คนอเมริกันทั้งหลายที่เป็นทั้งคนชนบท คนเมือง ล้วนเป็นกังวลว่า สหรัฐฯ จะบริหารนโยบายต่างประเทศอย่างไรที่ทำให้ชีวิตคนชั้นกลางดีขึ้น
สถาบันคาร์เนกี้มองว่า สหรัฐฯ จะต้องแข็งแกร่งทั้งในบ้านและนอกบ้านตัวเอง ต้องบริหารทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบ และต้องสามารถโดดเดี่ยวตัวเองได้ มีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยมใหม่ ใช้ทุกด้านที่เป็นเสาหลักของสหรัฐฯ เอง อย่างมีพลวัตร มีประสิทธิภาพ สร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และต้องสร้างแรงดึงดูดจากประเทศต่างๆ ด้วย จากนั้นก็เสนอข้อแนะนำ 5 ข้อสำหรับสหรัฐฯ ดังนี้
ข้อแรก ภาคการผลิตเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับคนชั้นกลางที่ไร้วุฒิการศึกษา และมันยังทำให้เศรษฐกิจทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ตอนกลางของประเทศ (Midwest) ที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศดีขึ้นด้วย การที่สหรัฐฯ มีบทบาทในการค้าโลกลดลงส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เสื่อมถอยลงตามไปด้วย ผลกระทบจากบทบาทที่หายไปทำให้แรงงานภาคการผลิตหายไปนับล้านตำแหน่ง ดังนั้น การเพิ่มบทบาทและเข้ามาร่วมปรับทิศทางการค้าโลกผ่านองค์การระหว่างประเทศ จะช่วยรักษาตำแหน่งงานในสหรัฐฯ อีกทาง
นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนชาวอเมริกันส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่ทำงานอยู่นอกภาคการผลิต โดยมากอยู่ในภาคบริการที่สหรัฐฯ ค่อนข้างได้เปรียบประเทศอื่น ทศวรรษที่ผ่านมา คนอเมริกันจำนวนมากสนับสนุนนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพราะมันสนับสนุนความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา ผลสำรวจจาก Gallap พบว่าคนอเมริกันราว 79% เห็นด้วยกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่มันจะช่วยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวยิ่งขึ้น
เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สร้างนโยบายต่างประเทศใหม่
เป็นมิตรมากขึ้น เน้นร่วมมือ อย่าถอยหลังเหมือนยุคทรัมป์
ข้อแนะนำข้อที่สอง แก้ปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระแสโลภาภิวัตน์ทำให้การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่สมส่วน โดยมากมักเป็นผู้บริษัทข้ามชาติและผู้ที่หารายได้อันดับต้นๆ อยู่แล้วที่ได้รับส่วนแบ่งนี้ไป ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากยิ่งขึ้นและไม่ทำให้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ได้ทำให้การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว
ขณะเดียวกัน ครอบครัวคนชั้นกลางต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข บ้าน การศึกษา และการดูแลเด็ก ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยอุตสาหกรรมต่างๆ ในการรับมือกับการดิสรัปทางเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะต้องส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน มีการลงทุนพิ่มขึ้น ต้องมีกลไกที่ต่อต้านการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบเสียหายต่อวิสาหกิจ SMEs และแรงงานมากขึ้น
ข้อสาม นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ มีลักษณะโดดเดี่ยวตัวเองมาราวทศวรรษแล้ว ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายต่างประเทศต้องกำหนดโดยสร้างผลประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะการแข่งขันในแง่ภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจที่กำลังทะยานขึ้นอย่างจีนและรัสเซีย คนอเมริกันจำนวนมากยังติดอยู่กับสถานะคนชั้นกลาง รัฐบาลต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจภายในประเทศและประเด็นสังคมที่มันมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนนี้ให้ได้เพื่อจะกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่
นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่การให้ความร่วมมือระหว่างองค์กรโดยใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายจะทำให้มันออกแบบนโยบายได้ง่ายขึ้นและแตกต่างกว่าช่วงสมัยสงครามเย็น
Today is a reminder, a painful one, that democracy is fragile. To preserve it requires people of good will, leaders with the courage to stand up, who are devoted not to pursuit of power and personal interest at any cost, but to the common good.
— Joe Biden (@JoeBiden) January 7, 2021
ข้อสี่ จงขับพิษร้ายจากหลักการนโยบายต่างประเทศเสีย
นโยบายต่างประเทศควรประคับประคองความสัมพันธ์กับพันธมิตรใกล้ชิด เพื่อสร้างเครือข่ายทางการทูต ที่สามารถจัดการกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หายนะที่สหรัฐฯ เผชิญจากโรคระบาด การโจมตีทางไซเบอร์ อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คนชั้นกลางตกอยู่ในอันตรายทั้งในแง่ของความมั่นคงและความมั่งคั่ง
นโยบายดังกล่าวอาจทำให้เห็นว่ามีแนวทางที่ไม่ทะเยอทะยานเหมือนก่อนหน้า แต่ก็เป็นนโยบายที่ผสมผสานกันระหว่างสมัยจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามา สหรัฐฯ ต้องแก้ไขนโยบายที่แสดงท่าทีมากเกินไปในเวทีโลก สหรัฐฯ ต้องมีท่าทีที่สร้างผลบวกและสร้างสรรค์ให้กับโลกมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่สามารถสานประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ในระยะเวลาอันสั้น สหรัฐฯ ต้องมีท่าทีที่ตอบสนองต่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่านั้น
สหรัฐฯ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาแรงงาน ความมั่นคงไซเบอร์ การวิจัยและการพัฒนาเหล่านี้จะช่วยขยายศักยภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เติบโต รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์หลัก ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด ต้องมีการปรับซัพพลายเชนให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
ข้อห้า สหรัฐฯ ต้องสร้างฉันทามติทางการเมืองที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศใหม่ เพื่อให้ตอบสนองผลประโยชน์สำหรับคนชั้นกลางอเมริกันมากขึ้น ผลสำรวจจาก Gallap เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 สะท้อนว่า คนอเมริกัน 69% คิดว่าสหรัฐฯ ควรมีบทบาทนำในเวทีโลกเพราะมันสัมพันธ์กับเสถียรภาพของสหรัฐฯ มานานนับทศวรรษแล้ว
สรุป
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของทรัมป์เป็นการหมุนทวนเข็มนาฬิกาที่กำลังเดินหน้าแบบถอยหลังกลับ นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคไบเดนจึงต้องปรับสมดุลเอื้อให้คนชั้นกลางทำงานได้ดีขึ้น สร้างผลประโยชน์ต่อธุรกิจต่างๆ และเปิดกว้างด้านการค้า เพิ่มการลงทุน ยืดหยุ่น และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น
ข้อเสนอที่ว่ามานี้ สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันคลังสมองคาร์เนกี้พยายามจะผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ การค้าที่มีแนวโน้มปกป้องอุตสาหกรรม ธุรกิจและแรงงานภายในประเทศมากขึ้น เน้นการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน และหันมาช่วยธุรกิจภายในประเทศให้รอดพ้นจากการดิสรัปมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็จะเดินเกมที่เป็นมิตรกับนานาประเทศมากขึ้น ท่าทีที่เป็นตำรวจโลก แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น อาจจะไม่เข้มข้นเท่ายุคที่ผ่านๆ มา เว้นแต่ว่า การกระทำนั้นๆ ของประเทศอื่นส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เอง
ที่มา – Nikkei Asia, Carnegie
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา