พร้อมแบน ถ้าบังคับใช้แรงงาน! สหรัฐแบนสินค้าวัตถุดิบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากจีน

การประชุมครั้งล่าสุดของกลุ่มประเทศ G7 ประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งก็มีทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอและพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน แน่นอนว่าจีนมีบทบาทหลักเกี่ยวพันโดยตรงเพราะมีประเด็นบังคับใช้แรงงานทั้งสองภาคส่วน ล่าสุด สหรัฐอเมริกาก็มีคำสั่งแบนสินค้าที่เป็นวัตถุดิบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากมณฑลซินเจียง จีน เนื่องจากคาดว่าจะมีการบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในซินเจียง จีน นี่ก็นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายภายใต้การนำของ Joe Biden

ก่อนหน้านี้ หลากหลายแบรนด์ดังสัญชาติตะวันตกต่างพากันเดินหน้าแบนฝ้ายจากซินเจียง จีน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ในซินเจียง ประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ แคนาดา อเมริกา และสหภาพยุโรปต่างก็ร่วมกันคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวพันกับเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน

Biden ban China

สำหรับเรื่องโรงงานในซินเจียงนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติระบุว่ามีการบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในซินเจียงอยู่ ทั้งนี้กำลังการผลิตวัตถุดิบสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ว่านี้คือ polysilicon (โพลีซิลิคอน) เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำแผงโซลาร์เซลล์ จีนสามารถผลิตได้มากราวครึ่งหนึ่งของการผลิตในโลก ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ส่งผลโดยตรงต่อบริษัท Hoshine Silicon Industry (Shanshan) ของจีนที่ผลิตโพลีซิลิคอนอยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการประกาศให้บริษัทอเมริกันใช้วัตถุดิบจากแหล่งอื่นแทนต่อจากนี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ยังได้เพิ่มบริษัทสัญชาติจีน 5 แห่งไว้ในบัญชีต้องห้ามสำหรับการส่งออก เนื่องจากมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับการบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในซินเจียง ดังนี้

  • Hoshine Silicon Industry (Shanshan) Co., Ltd (บริษัทที่ผลิตโพลีซิลิคอน)
  • Xinjiang Daqo New Energy, Co. Ltd
  • Xinjiang East Hope Nonferrous Metals Co. Ltd
  • Xinjiang GCL New Energy Material Technology, Co. Ltd
  • Xinjiang Production and Construction Corps

บริษัทอเมริกันหากต้องการขายสินค้าให้กับบริษัทเหล่านี้ จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก่อน ด้านบริษัท Hoshine, East Hope, GCL-Poly ยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้ ขณะที่บริษัท Daqo ระบุว่าไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ เรื่องนี้ถือเป็นท่าทีที่สำคัญที่สุดอีกก้าวหนึ่งภายใต้การบริหารของ Biden ที่ต้องการจะตอบโต้จีนกรณีบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อย

Biden

ขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐสามารถสืบสวนแหล่งที่มาย้อนหลังได้ว่า การนำเข้าและการผลิตนั้นมีแหล่งผลิตหรือวัตถุดิบจากไหน กว่า 175 บริษัทได้ลงนามไว้แล้วว่าจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงาน เรื่องนี้ John Smirnow ที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมระบุว่า ความจริงแล้ว ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้หรือในบริเวณมณฑลซินเจียงนี้ไม่ค่อยมีความโปร่งใสนัก จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างมากถ้าจะเข้าไปดำเนินธุรกิจกับพื้นที่นี้ ขณะที่ Roth Capital Partners LLC ระบุในงานวิจัยถึงลูกค้าว่า ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาล Biden อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐฯ ทั้งหมดได้ เป็นไปได้ว่าสินค้านำเข้าจาก Hoshine จะต้องได้รับการอนุมัติก่อนเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด

บริษัท Hoshine นี้ถือเป็นแหล่งจัดหาซิลิคอนโลหะรายใหญ่ อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโพลีซิลิคอน ซึ่งสามารถผลิตได้มากราว 8 แสนเมตริกตันต่อปี โดยมีซินเจียงเป็นศูนย์กลางผลิตโพลีซิลิคอนที่สำคัญ วัสดุดังกล่าวจะถูกส่งไปแปรรูปในโรงงานส่วนอื่นๆ ของจีนรวมทั้งส่งไปยังประเทศอื่นด้วยก่อนที่จะประกอบกันเป็นแผงโซลาร์เซลล์แล้วส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งจีนสามารถผลิตแผ่น wafer (แผ่นชิป) และแท่งโลหะ (ingot) ได้มากราว 96% ของโลก ส่วนประกอบทั้งสองส่วนนี้ผลิตเป็นโพลีซิลิคอนที่ผลิตไปทั่วโลก การสืบหาแหล่งผลิตของโพลีซิลิคอนอาจจะต้องขอความร่วมมือกับบริษัทที่ผลิตของจีนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี กฎหมายการค้า 1930 (Tariff Act of 1930) นี้ใช้มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Donald Trump แล้ว และยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายปกป้องทางการค้า รัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้เพื่อเป็นข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ได้ ในการนี้ กฎหมาย 1930 ห้ามนำเข้าหรือผลิตโดยมีการบังคับใช้แรงงาน หากฝ่าฝืน รัฐบาลกลางมีอำนาจที่จะยึดผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือสกัดไม่ให้มีการนำเข้าสหรัฐฯ ได้ ก่อนหน้านี้ หน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนภายใต้รัฐบาล Trump ก็เคยจัดการเรื่องการผลิตฝ้ายและมะเขือเทศจากซินเจียงมาแล้ว แน่นอนว่าสมัย Biden ก็เพิ่งมีเรื่องสกัดการนำเข้าเสื้อผ้าแบรนด์ Uniqlo ที่คาดว่ามีการบังคับใช้แรงงานจากซินเจียงเช่นกัน

China Xinjiang Uyghur
ภาพคนออกมาเรียกร้องให้หยุดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ ซินเจียง Photo by Kuzzat Altay on Unsplash

ในส่วนของจีน จีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และกล่าวว่าสหรัฐฯ พยายามจะเป็นบ่อนทำลายความสำเร็จของธุรกิจจีน โดยจีนพูดถึงประเด็นที่สหรัฐฯ แบนสินค้าโพลีซิลิคอนจากซินเจียง จีนว่า การแบนโพลีซิลิคอนจากจีนของสหรัฐฯ นั้นก็เพื่อโปรโมตวาระแห่งชาติของสหรัฐฯ เอง การยึดสินค้าที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐโดยอ้างว่าน่าจะผลิตมาจากการบังคับใช้แรงงงานนั้น จีนมองว่า จริงๆ แล้วสหรัฐฯ ต้องการทำนโยบาย American Jobs Plan ให้บรรลุผล นโยบายดังกล่าวต้องใช้เงินสนับสนุนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 63.7 ล้านล้านบาท สหรัฐฯ ต้องหาทางแข่งขันในตลาดพลังงานสะอาดมากขึ้น

โดยจีนอ้างถึงบทบรรณาธิการที่เขียนโดย Jennifer Granholm รัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐฯ เองว่า จีนลงทุนทั่วประเทศเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์แห่งศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงเซมิคอนดัคเตอร์ ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาจะเติบโตขึ้นได้ ก็ต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นแหล่งซัพพลายทั้งในส่วนของรถยนต์ โทรศัพท์และการใช้ชีวิต ด้าน Ron Klink สมาชิกสภาคองเกรสจากรัฐเพนซิลวาเนียระบุว่า เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี Biden ในเรื่องการกลับมาฟื้นฟูชนชั้นกลางใหม่ได้จนกว่าเราจะสร้างภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกาขึ้นมาใหม่ ถ้าต้องการให้โครงการ Build Back Better แข็งแกร่งทำได้จริง สหรัฐต้องสร้างกังหันลม สร้างโซลาร์เซลล์ที่ผลิตโดยส่วนประกอบในอเมริกาเอง เพื่อทำให้ครอบครัวชาวอเมริกันมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน อเมริกาต้องผลิตสินค้าได้เองทั่วประเทศ

สิ่งที่จีนสะท้อนก็คือสะท้อนแนวคิดชนชั้นนำในทีมรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจากนั้นก็ระบุว่า ซินเจียงเป็นแหล่งซัพพลายโพลีซิลิคอนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก การพยายามดิสรัปของสหรัฐฯ อาจจะกำลังทำลายสิทธิมนุษยชนทั่วโลกอยู่ จากนั้นก็บอกว่า Biden กำลังเจริญรอยตามผู้นำคนก่อนหน้านี้ การแบนโพลีซิลิคอนของสหรัฐฯ อาจส่งผลสะเทือนต่อคนงานอเมริกันเองและในที่สุดก็นำไปสู่การปลุกปั่นให้เกิดสงครามการค้าได้

สรุป

สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของรัฐบาล Biden ไม่ได้เพิ่งแบนจีนเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็ร่วมกันผนึกกำลังกับชาติตะวันตกร่วมกันแบนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในซินเจียง จีน จากนั้นศุลกากรสหรัฐฯ ก็สกัดสินค้านำเข้าที่เป็นเสื้อผ้าแบรนด์ Uniqlo ที่คาดว่าจะบังคับใช้แรงงานซินเจียงในจีนด้วย ล่าสุดในที่ประชุม G7 ก็พร้อมผลักดันมาตรการโต้กลับการบังคับใช้แรงงานทั้งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งก็ล้วนเกี่ยวข้องกับจีนทั้งนั้น อาจเรียกได้ว่าสหรัฐฯ เริ่มดำเนินท่าทีใช้ไม้แข็งกับจีนต่อเนื่อง ต้องติดตามต่อไปว่า ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเจรจาที่ทำให้บรรยากาศระหว่างประเทศดีขึ้นหรือยิ่งเป็นการโดดเดี่ยวจีนและทำให้สงครามการค้าคุกรุ่นยิ่งขึ้น

ที่มา – Bloomberg, CNBC, Department of Commerce, CGTN

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา