รู้ไหมว่าถ้าทำธุรกิจ แล้วติดขัดเรื่องเงิน Amazon มีโครงการให้กู้ยืมเพื่อ SME ด้วย

เป็นอีกมุมหนึ่งของ Amazon ที่อาจไม่คุ้นตา นั่นคือ “โครงการให้กู้ยืมเงินเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2011 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในปีที่ผ่านมา ได้ให้กู้ยืมเงินไปไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญแล้ว เพราะแน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำธุรกิจแล้วจะติดขัดเรื่องเงิน โดยเฉพาะถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก การได้เงินทุนมาสนับสนุนในช่วงที่เหมาะสม จะทำให้ธุรกิจคล่องตัวสูงมาก

Amazon กับธุรกิจให้กู้ยืมเงิน อัดฉีดธุรกิจขนาดเล็ก

ในปีที่ผ่านมา Amazon ได้ให้ธุรกิจ SME ขนาดเล็กกู้ยืมเงินไปมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ มีธุรกิจกว่า 20,000 รายแล้วที่เข้ามาใช้บริการนี้จาก Amazon แต่ที่จริงแล้ว โครงการให้กู้ยืมเงินเพื่อธุรกิจขนาดเล็กของ Amazon มีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2011 และได้ให้กู้ยืมเงินรวมทั้งหมดแล้วมีมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญมาแล้ว

เมื่อต้นปีนี้ Amazon เปิดเผยว่า โครงการให้กู้ยืมเงินเพื่อธุรกิจขนาดเล็กมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า อย่างในปี 2015 ที่มีมูลค่ากว่า 337 ล้านเหรียญ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 661 ล้านเหรียญในสิ้นปีนั้น หรืออย่างในปี 2016 ที่ผ่านมาก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

Peeyush Nahar รองประธานฝ่าย Marketplace ของ Amazon บอกว่า “โครงการกู้ยืมเงินของเราเป็นความต้องการที่จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้มแข็ง เพราะเรารู้ว่าธุรกิจขนาดเล็กจะมีเวลาที่เหมาะสมในการอัดฉีดเงินเพื่อทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การทำธุรกิจขนาดเล็กเหมือนอยู่ในสายเลือดของพวกเรา ดังนั้นเราต้องการทำให้พวกเขาเติบโต”

แน่นอนว่า Amazon ไม่ใช่บริษัทธุรกิจด้านเทคโนโลยีแห่งเดียวที่มีโครงการให้กู้ยืมเงินลักษณะนี้ เพราะถ้าไปดูรายอื่นอย่าง PayPal เองก็ได้เคยทำโครงการให้กู้ยืมเงินกับธุรกิจออนไลน์ไปไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านเหรียญเช่นเดียวกัน

สำหรับเรื่องการกู้ยืมเงิน ธุรกิจขนาดเล็กสามารถกู้จาก Amazon ได้ตั้งแต่มูลค่าประมาณ 1,000 ถึง 75,000 เหรียญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าและธุรกิจของตนเอง เพราะแนวคิดของ Amazon คือต้องการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการก้าวเข้าสู่การขายสินค้าในโลกของตลาดออนไลน์ อย่างไรก็ตาม บริการแบบนี้เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาก่อน จากนั้นขยายไปในญี่ปุ่น และตามมาด้วยในสหราชอาณาจักร นอกจากนั้น Amazon ยังวางแผนที่จะขยายบริการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็กไปในจีนและแคนาดาในอนาคตอีกด้วย

ที่มา –Venturebeat

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา