หุ่นยนต์ทำป่วน! Amazon ยืนยันว่ามนุษย์ยังสำคัญ แม้อยากมีคลังสินค้าที่ทำงานได้อัตโนมัติ

แม้ Amazon จะโดดเด่นในโลกเทคโนโลยี แต่ในความเจ๋งนั้นก็มีปัญหาที่คนนอก-คนในต่างวิจารณ์ โดยเฉพาะกับเรื่องค่าตอบแทนต่ำแต่งานหนัก รวมถึงการนำหุ่นยนต์มายกระดับธุรกิจ ซึ่ง Amazon แจ้งว่าจะไม่ทำอย่างนั้นแล้ว

amazon
การส่งของใน Amazon.com

โดนกลุ่มแรงงานกดดันจนต้องพับแผน

เมื่อเดือนพ.ย. 2561 ทาง Amazon ได้ประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชม. (ราว 480 บาท) ซึ่งนั่นก็ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องแรงงานไปได้ระดับหนึ่ง เพราะถึงจะมีคนใน และคนนอกมาวิจารณ์เกี่ยวกับงานที่ไม่คุ้มกับค่าตอบแทน แต่ด้วยชื่อ Amazon ก็ยังดึงดูดให้คนเข้ามาสมัครทำงานอยู่เช่นเดิม

ขณะเดียวกันมันยังมีอีกปัญหาคือเมื่อเดือนมี.ค. 2562 บริษัทส่งนโยบายใหม่ที่จะส่งสินค้าให้ลูกค้าสมาชิก Prime ภายใน 1 วัน จากเดิม 2 วัน ทำให้เกิดการหวาดระแวงเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะกับการใช้ระบบอัตโนมัติ เช่นหุ่นยนต์ หรือซอฟท์แวร์อื่นๆ มาจัดการเรื่องนี้ทั้งหมด จนแรงงานมนุษย์ไม่มีที่ยืน

amazon
คลังสินค้าของ Amazon // ภาพ amazon.com

อย่างไรก็ตาม Scott Anderson ผู้อำนวยการ Amazon Robotics Fulfillment ยืนยันว่า เทคโนโลยีในตอนนี้ยังตามหลัง 10 ปีเมื่อเทียบกับระบบที่บริษัทใช้มนุษย์ และซอฟท์แวร์คอยจัดการคลังสินค้า ดังนั้นตัวแรงงานคนยังจำเป็น และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอยู่

“ที่เทคโนโลยีทำได้ในตอนนี้ก็คือการหยับสิ่งของแบบไม่เสียหาย หรือหยิบพัสดุหลายชิ้นพร้อมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เห็นได้ในธุรกิจ E-Commerce แล้ว และในอนาคตมันจะแพร่หลายมากกว่าเดิม แต่ Amazon ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ มันเป็นอัตโนมัติมากขึ้น แต่อาจต้องรอเป็นสิบปี หรือมากกว่านั้นจึงจะใช้งานได้”

amazon
ศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ในสหรัฐ (ภาพจาก Amazon)

ทั้งนี้ Amazon กำหนดเป้าหมายธุรกิจไว้คือ นับตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้าภายใน 4 ชม. ตัวสินค้านั้นต้องออกจากคลังสินค้าเพื่อไปยังศูนย์กระจายสินค้าแล้ว เพื่อไปให้ถึงทันเวลาที่กำหนด ส่วนการส่งสินค้าให้ลูกค้า Prime ใน 1 วันนั้น Amazon จะยกระดับการขนส่งเป็นหลัก ไม่ได้กระทบกับส่วนคลังสินค้า

สรุป

หุ่นยนต์ก็เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน เพราะด้านหนึ่งมันก็อำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจได้ แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้มนุษย์ไม่มีงาน เพราะไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหุ่นยนต์ ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นคงต้องรอกันอีกนาน เพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยียังมีอยู่ แต่ก็ต้องไม่ลืมสร้างทักษะใหม่ๆ ออกมาเพื่อใช้ดิ้นรนในอนาคตได้

อ้างอิง // Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา