ย้อนรอยประวัติศาสตร์การทำธุรกิจที่ผิดพลาดของ Amazon ในยุค Jeff Bezos บริษัทมูลค่ามหาศาล แต่ก็เคยทำพลาดออกสินค้าที่ไม่มีใครอยากซื้อ
Jeff Bezos มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกในวัย 57 ปี ผู้ก่อตั้งและ CEO คนปัจจุบันของ Amazon บริษัท E-Commerce เบอร์ต้นๆ ของโลก กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ โดยจะส่งไม้ต่อให้กับ Andy Jassy ให้ดำรงตำแหน่งแทน
นับตั้งแต่ที่ Jeff Bezos ก่อตั้งบริษัท Amazon ในปี 1997 จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 24 ปีพอดี Amazon ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 54 ล้านล้านบาท พร้อมกับเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกด้วยมูลค่า 6.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21 ล้านล้านบาท จากการจัดอันดับของ Kantar ประจำปี 2021
แต่เชื่อหรือไม่ว่าแม้ Amazon จะมีมูลค่าบริษัทมากมายมหาศาลเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่า Amazon จะไม่เคยล้ม ไม่เคยพลาด เพราะ Jeff Bezos เองก็เป็นคนทำธุรกิจคนหนึ่ง ย่อมต้องเคยตัดสินใจผิดพลาด และลองถูกลองผิดจนสร้างความเสียหายให้กับการทำธุรกิจเหมือนกับคนอื่นๆ
Fire Phone สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของ Amazon
ย้อนกลับไปในปี 2004 Amazon ได้เปิดตัวโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า Amazon Fire Phone ขึ้นมา โดยมีความสามารถพิเศษที่สามารถอ่าน ฟัง และจดจำสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวของผู้ใช้งานได้ โดยมีราคาอยู่ที่ 649 ดอลลาร์สหรัฐ
หลังเปิดตัวได้ไม่นาน Amazon Fire Phone ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักรีวิวไปในทางลบ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ราคาแพงเกินไป แถมประสิทธิภาพก็ไม่ดี ทำให้ Amazon ต้องยอมลดราคาโทรศัพท์รุ่นนี้เหลือเพียง 0.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือซื้อแบบติดสัญญา แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี Amazon ก็ยอมยุติการจำหน่าย Amazon Fire Phone ไปในที่สุด ทิ้งไว้เพียงการขาดทุน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.44 พันล้านบาท
Crucible เกมฟรีจาก Amazon ที่ไม่เคยทำกำไร
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 Amazon ได้เปิดตัวเกม Crucible อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ใช้เวลาพัฒนาเกมนี้มานาน 5 ปี ด้วยเงินลงทุนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ
Crucible เป็นเกมออนไลน์เกมแรกของ Amazon เป็นเกมยิงต่อสู่ผ่านมุมมองของบุคคลที่สาม แต่ผ่านไปเพียง 2 เดือน Amazon ก็ได้ออกมายอมรับแบบตรงๆ ว่า Crucible เข็นไม่ขึ้นจริงๆ และประกาศยุติการพัฒนาเกมนี้ไปในที่สุด เพราะไม่สามารถดึงดูดผู้เล่นจนสามารถทำกำไรจากการเปิดให้ซื้อไอเทมในเกมได้เลย
Amazon Spark แอปช้อปปิ้งจากรูปภาพ
ในยุคที่ Instagram ครองเมือง Amazon เกิดความคิดที่จะทำแอปพลิเคชันช้อปปิ้งในรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยให้ผู้ใช้งานเลื่อนดูสินค้าผ่าน Feed ที่เป็นรูปภาพต่างๆ เมื่อเห็นรูปภาพของสินค้าที่สนใจ ก็สามารถทำการสั่งซื้อได้ทันที โดยเรียกแอปพลิเคชันนี้ว่า Amazon Spark
หลังจากเปิดตัว Amazon Spark ในปี 2017 ในปี 2019 Amazon ก็ตัดสินใจปิดแอปพลิเคชันดังกล่าวทิ้ง เหลือเพียงทางเลือกให้ผู้ใช้งานเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่หน้าเว็บ Amazon แบบปกติแทน
อย่างไรก็ตาม Amazon Spark ก็ไม่ได้ทำให้การลงทุนของ Amazon สูญเปล่าแต่อย่างใด เพราะ Amazon เอาแนวคิดของ Amazon Spark ไปปรับใช้ และได้เรียนรู้ว่ารูปภาพ หรือสินค้าแบบใดที่จะดึงดูดลูกค้าได้ดี
Dash Botton ปุ่มกดซื้อของอัจฉริยะ
ในปี 2015 Amazon ได้เปิดตัว Dash Botton ปุ่มกดสั่งซื้อของอัจฉริยะ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การซื้อของใช้ภายในบ้านเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงกดที่ปุ่มของ Dash Botton เพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำรายการสั่งซื้อได้เลย
โดยปุ่ม Dash Botton 1 ปุ่ม จะรองรับการสั่งซื้อของใช้ภายในบ้าน 1 ชนิด ตามจำนวนที่กำหนดไว้ เช่น ผงซักฟอก สบู่เหลว ยาสีฟัน และน้ำยาล้างห้องน้ำเป็นต้น โดยผู้ใช้งานสามารถนำปุ่มนี้ไปติดตั้งไว้ในบริเวณที่ของที่ต้องการสั่งซื้อต้องใช้งานบ่อยๆ เช่น ปุ่ม Dash Botton สั่งซื้อผงซักฟอก ให้ติดไว้ที่เครื่องซักผ้า เป็นต้น
ในปี 2019 Amazon ประกาศยกเลิกการให้บริการ Dash Boton ในวันที่ 31 สิงหาคม โดยให้เหตุผลว่ามีจำนวนผู้ใช้งานปุ่มนี้น้อยมากๆ
Haven บริษัทร่วมทุนด้านสุขภาพที่ไปไม่รอด
ในปี 2018 Amazon, JPMorgan และ Berkshire Hathaway ได้ก่อตั้งบริษัท Haven บริษัทด้านสุขภาพที่มีเป้าหมายในการหาทางลดค่าใช้จ่าย และเฤพิ่มทางเลือกด้านการแพทย์ให้กับชาวสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามมีการรายงานอยู่เสมอว่า Amazon ไม่ได้เต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับ Haven มากนัก จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ความพยายามของ Haven ก็ทำไม่สำเร็จ และประกาศปิดกิจการในที่สุด
จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ Amazon ไม่สามารถทำให้สร้างกำไร หรือทำให้มีผู้ใช้งานได้จริงๆ หลายๆ อย่างอาจจะไม่ได้ “ล้มเหลว” อย่างที่คิด เพราะในท้ายที่สุดแล้ว Amazon ก็ได้ลองผิดลองถูก คิดค้นบริการใหม่ๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็อย่าลืมว่าธุรกิจ E-Commerce ซึ่งเป็นแกนหลักของ Amazon ยังไปได้ดีในยุคนี้
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา