Health Care มาแรงจริง แต่ขนาดมหาเศรษฐีระดับโลก Bezos-Buffett-Dimon ร่วมมือกันทำ ก็ยังไม่สำเร็จ

ดิสรัปชั่นเกิดขึ้นในหลายวงการมาก โดยเฉพาะเมื่อปัญหาโควิดเข้ามาทำให้หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป แต่นั่นไม่ใช่กับวงการบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในอเมริกาที่อุตสาหกรรมการบริการด้านสุขภาพแย่ลำดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

แม้แต่ความร่วมมือของ 3 CEO ระดับโลกรวมกันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

CEO Bezos Buffett Dimon
จากซ้ายไปขวา Jeff Bezos, Warren Buffett และ Jamie Dimon

ความคาดหวังที่จะดิสรัปอุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพของ 3 CEO ไม่ถึงฝั่ง

ล่าสุด Haven บริษัทที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 CEO ระดับโลก เป็นอันต้องปิดตัวลงภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเป็นอันต้องทิ้งเป้าหมายจะทำให้บริการด้านสุขภาพในอเมริกาถูกลง ซับซ้อนน้อยลง และเข้าถึงง่ายขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีไว้ข้างหลัง

Haven เป็นความร่วมมือระหว่าง Jeff Bezos มหาเศรษฐีเจ้าของ Amazon, Jamie Dimon CEO ของ JPMorgan หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา และ Warren Buffett มหาเศรษฐีนักลงทุน CEO ของ Berkshire Hathaway Inc. 

โดย Haven มีเป้าหมายในการคิดโซลูชั่นสำหรับบริการด้านสาธารณสุข เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดความซับซ้อนของระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยจะเริ่มจากระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของลูกจ้างของทั้งสามบริษัทที่มีจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน ก่อนจะขยายผลออกไปสู่สาธารณะ

การปิดตัวของ Haven สะท้อนปัญหาฝังลึกของระบบสาธารณสุขสหรัฐฯ

ซึ่งแน่นอนว่าความร่วมมือของสามมหาเศรษฐีระดับโลก ย่อมต้องถูกหมายตาและถูกคาดหวังว่าอาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมบริการด้านสาธารณสุขได้สำเร็จไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนถึงขนาดที่หุ้นของบริษัทประกันร่วงลงเป็นแถบ เมื่อทั้งสามประกาศความร่วมมือครั้งแรกในปี 2018 

แต่ที่สุดแล้ว Haven ที่เปิดทำการได้เพียง 3 ปี ก็ต้องปิดตัวลงไป ซึ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาเรื้อรังของระบบสาธารณสุขสหรัฐฯ ที่ยากเกินแก้ และยังเป็นบทเรียนให้กับประเทศที่ยังไม่ได้พัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดีเพียงพอว่าหากปล่อยไว้นานไป แม้แต่ความพยายามที่มาพร้อมเงินทุนมหาศาลก็อาจไม่เพียงพอที่จะปฏิรูประบบ 

ทำไม Haven ถึงปิดตัวลง

การปิดตัวในครั้งนี้มีหลายเหตุผลประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องของทรัพยากรบุคคลที่มีรายงานว่าในช่วงพีคที่สุดของบริษัทมีพนักงานเพียง 75 ตำแหน่ง สำหรับขอบเขตงานที่ใหญ่มากอย่างการปฏิรูประบบสาธารณสุข และจ้าง CEO อย่าง Atul Gawande ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จาก Harvard ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ไม่มีความสนใจและประสบการณ์ในงานบริหาร

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของขอบเขตงานที่กว้าง เพราะทั้งสามบริษัทมีการจ้างงานกว่า 1.2 ตำแหน่ง ครอบคลุมทั้งประเทศอเมริกาที่กว้างใหญ่และมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ได้รับชุดสวัสดิการทางสาธารณสุขที่แตกต่างกัน มีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน โครงการนี้จึงต้องพับเก็บไปในที่สุด

ภาพจาก Unsplash

โครงสร้างของอุตสาหกรรมสาธารณสุข เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความล้มเหลวครั้งนี้ สหรัฐฯ (และประเทศอื่นๆ ที่มีสวัสดิการด้านสาธารณสุขน้อย) ผลักให้การดูแลสุขภาพของพลเมืองไปอยู่ในมือของภาคธุรกิจเพื่อหวังให้ระบบตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสร้างประสิทธิภาพให้กับบริการด้านสาธารณสุขเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ จนทำให้บริการดังกล่าวอยู่ในมือของโรงพยาบาลเอกชน บริษัทยา และบริษัทประกัน 

แต่ต้องไม่ลืมว่า สาธารณสุขเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้แข่งขันเข้าสู่ตลาดได้ยากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ในตลาดของกิจการสาธารณสุขมีผู้แข่งขันน้อยราย ผลักให้ราคาของสินค้าในตลาดนี้ (ค่าบริการด้านสุขภาพ) สูง จนถึงขนาดที่ Warren Buffett นำไปเปรียบเทียบว่าเป็นพยาธิที่คอยดูดกินเศรษฐกิจอเมริกาจนซูบผอม 

มีการคาดการณ์กันว่าหากเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในปี 2028 สหรัฐฯ จะต้องหมดเงินกว่า 20% ของ GDP ไปกับค่าบริการทางสาธารณสุข มากกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นถึง 2 เท่า ในขณะที่ประสิทธิภาพของมันกลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน คนอเมริกันมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอื่นและสุขภาพแย่กว่าประเทศอื่น 

Haven ไม่สามารถต่อรองกับบริษัทในอุตสาหกรรมสาธาณสุขในสหรัฐฯ เพื่อลดต้นทุนด้านการสาธารณสุขลงได้ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในความตั้งใจของ Haven ที่ทำไม่สำเร็จ และอาจเป็นบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ ที่ภาคธุรกิจมีบทบาทสูงในบริการทางสาธารณสุข

ที่มา – JT, NYTimes, WSJ, Quartz, Washington Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน