ในยุคดิจิทัล ที่หลายธุรกิจถูก Disrupt และตัวแรงงานเองก็ถูกท้าทายโดย AI คำถามคือ HR หรือ Human resource มีมุมมองอย่างไร มาหาคำตอบกันในสัมภาษณ์ กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล หรือ CHRO (Chief Human Resources Officer) แห่ง AIS
ที่มาของ CHRO
ในตลาดโลก CHRO(Chief Human Resources Officer), CPO(Chief Product Officer) มีมานานแล้วในองค์กรใหญ่ๆ ในอดีต HR มักจะเป็นหลังบ้าน ดูแลเรื่อง ขาด ลา มาสาย เป็นผู้คุมกฎ ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ใช่แล้ว ทำให้ปัจจุบัน CHRO มีความเป็นมือขวา มือซ้ายของ CEO มากขึ้น เพราะ “คน” เป็นปัจจัยที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นธุรกิจจะสำเร็จต้องเตรียมคนให้พร้อม
ภาพรวมของ HR ในประเทศไทย
บริษัทส่วนใหญ่ยังมีความเคยชินในการสนใจถึงธุรกิจอย่างเดียว จนลืมการเตรียมความพร้อมของ”คน”ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่า
- การเพิ่มศักยภาพยุคเดิมที่เคยทำงานในโลกแบบเดิมให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
- โลกมี New Ability เกิดขึ้นทุกวัน ทำยังไงให้ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์กับเด็กที่สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีเชื่อมเข้าหากัน (Generation Connected)
พนักงานสำคัญขนาดไหน
กานติมา มองว่าพนักงานมีความสำคัญแต่ต้องพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เทคโนโลยีเข้ามา งานไหนที่เป็นงาน Routine ทำซ้ำๆ AI จะเข้ามาแทนที่ ดังนั้นต้องทำให้คนเดินนำหน้า AI ซึ่งทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญ
การมี Growth Mindset เป็นสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญ อย่าเอาความสำเร็จในอดีตมาเป็นอุปสรรคในการก้าวไปข้างหน้า จากนี้ไปการเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วขึ้น มีความถี่มากขึ้น วิถีชีวิตจะไม่เหมือนเดิม เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของ “คน” ดังนั้น คนที่มีโอกาสและมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง จะเป็นแรงงานสำคัญที่ตลาดต้องรักษาไว้
บทบาทของ HR ในการดูแลพนักงาน
ตอนที่ประกาศ Transform คนจะตกใจมาก มีแรงต่อต้านมหาศาลโดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จที่จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยน จึงต้องทำความเข้าใจกับพนักงานว่าคนที่สามารถไปต่อได้คือมี Growth Mindset คือการมองข้างหน้าเป็นการท้าทายมากกว่าเป็นอุปสรรค เรามีประโยคต้องห้ามคือ “เคยทำแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ”
ช่วงแรก HR มักจะเป็นผู้ช่วย ผู้สนับสนุน แต่ตอนนี้ต้องเป็น Strategic Partner ว่าการจะก้าวไปข้างหน้าต้องทำอะไรบ้าง ที่ผ่านมา AIS มีระบบ Training ที่ยอดเยี่ยม แต่ปัจจุบันจะเน้นการทำ Staff Development มองการพัฒนาพนักงานเป็นการเดินทาง ที่ไม่ได้เข้าไปนั่งฟัง นั่งเรียนอย่างเดียว ตอนนี้พนักงานต้องเตรียมความรู้ก่อน เพื่อเข้าไป Workshop และสามารถต่อยอดในห้องเรียนได้
การเปลี่ยนแปลงใน AIS
AIS เปลี่ยนโครงสร้างทั้งองค์กร โดย Transform HR เป็นหน่วยงานแรก คนที่เก่งในอดีตไม่ได้แปลว่าเติบโตไม่ได้ ก็มีการเปลี่ยนถ่าย เพื่อให้ไปเติบโตข้างนอก เพราะ HR มีความเชื่อว่า Satisfaction Score เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ว่า Engagement และ Commitment มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เวลาคนเข้าไปติดใน Comfort Zone จะความพอใจสูง แต่ความสบายเป็นอุปสรรคในการก้าวต่อไปข้างหน้า ในองค์กรต่างประเทศจึงมีการเปลี่ยนถ่ายคนให้มีความหลากหลายในองค์กร
ทุกครั้งที่มี Pilot Program จะทดลองกับ HR ก่อน เช่นยกเลิกชื่อตำแหน่ง เมื่อก่อนเรามี AVP, VP, SVP, SEVP ทุกคนรอการเลื่อนตำแหน่งแต่จริงๆ แล้วพบว่าพนักงานที่พยายามมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่น สิ่งที่เค้ามองหาคือโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของตัวเอง เราจึงเอาชื่อตำแหน่งออกให้องค์กรมีลำดับชั้นลดลง เพราะเราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้ติดกับระบบ Hierarchy จึงเป็นการปรับโครงสร้างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นกลางๆ เตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่
การมองโลกคนละมุมกันก็เป็นอีกปัญหา ยกตัวอย่างเช่นเรื่องสุขภาพ คนยุคเดิมจะมองว่าองค์กรต้องทำประกันให้มันครอบคลุม คุ้มครองการเจ็บป่วย แต่คนรุ่นใหม่จะเน้นที่ว่าดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ป่วย องค์กรต้องจัดโปรแกรมให้พนักงานสนใจเรื่องสุขภาพ การอาหารที่ดีมีประโยชน์ การออกกำลังกาย พบว่าพนักงานสามารถนำไปต่อยอดกันเองได้ ไปเดิน ไปวิ่ง ไปเล่นกีฬาเป็นกลุ่มก้อนที่ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพตัวเอง
AIS Academy เป็นยังไง
เมื่อก่อนเรามี HR Development ช่วยทำ Training ให้พนักงาน แต่การพัฒนาพนักงานในปัจจุบัน ข้อแรกคือ ถ้าพนักงานอยากได้ความรู้ไม่รออาจารย์มาบอกแล้ว เพราะสามารถหาข้อมูลได้ด้วยตัวเอง แต่ความท้าทายคือ ข้อมูลที่ได้มาถูกต้อง
ดังนั้น AIS Academy จึงช่วยให้พนักงานเข้าถึงความรู้ที่ได้รับการยืนยันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยต่างประเทศหรือหลักสูตรต่างๆ ที่นำเข้ามา เปลี่ยนจาก Trainer เป็น คนคัดเลือก คัดกรอง หาองค์ความรู้ ให้พนักงาน ดังนั้น Trainer ต้องรู้เทคโนโลยี ในการทำ Classroom Workshopและ E-learning
ผลที่ได้รับคือ AIS แข็งแรงขึ้น จนสามารถคิดเผื่อไปข้างนอกได้ เป็นโครงการ “ภารกิจคิดเผื่อ” การพัฒนาทำให้องค์กรมีสปีดที่เร็วขึ้น การเริ่มอะไรใหม่ๆ ใช้เวลาเร็วมาก แต่บริษัทจะแข็งแรง สังคมก็ต้องแข็งแรงด้วย ถึงจะสามารถไปด้วยกันได้ AIS Academy จึงก้าวออกไปช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสังคม ในชื่อโปรเจ็กต์ Academy For Thai ครั้งแรกจัดในกรุงเทพต่อมาจัดในเชียงใหม่และขอนแก่น เพื่อกระจายองค์ความรู้ไปยังภูมิภาคต่างๆ
การพิสูจน์โดยรางวัล Best Companies to Work for in Asia 2019
การได้รางวัลจากภายนอก และเป็นระดับภูมิภาค เป็นสิ่งที่ทุกคนใน AIS ดีใจและเป็นการพิสูจน์ว่า สิ่งที่ลงมือทำกันมาตลอดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นการวัดว่าองค์กรมีความพร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่หรือไม่ หลายๆ ครั้งต้องมีการลองผิดลองถูก ในอดีตคนใน AIS จะไม่กล้าขึ้นมาทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม เราจึงทำโครงการ “รู้จากล้ม” เพื่อให้พนักงานเข้าใจว่าไม่ต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่ต้องกล้าที่จะเรียนรู้ ล้มแล้วแต่ละคนเรียนรู้อะไร จะแข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างไร
องค์กรแบบไหนควรให้ความสำคัญกับ HR
ยิ่งองค์กรเล็กยิ่งมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของคน เพราะว่ามีพลังเยอะ เคลื่อนตัวได้ไว แต่ในการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ยังไงก็ต้องเปลี่ยน อย่างแรก HR ต้องเปลี่ยน Mindset อย่ายึดติดกับสิ่งที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ หลายครั้งที่พยายามจะขีดเส้นทางให้พนักงาน แต่จริงๆ แล้วพนักงานต้องขีดเส้นทางชีวิตของตัวเอง
ดังนั้น HR ต้องรู้เรื่องว่าทำอย่างไรให้คนพร้อมที่จะก้าวไปสู่ข้างหน้า ต้องเข้าใจโลกที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยี เพราะจะไม่เข้าใจว่าจะเข้ามามีผลกระทบอย่างไรกับองค์กร แล้วจะต้องเตรียมความพร้อมของ”คน”อย่างไร
แม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่งอย่าง AIS ยังต้องปรับตัว ยิ่งยืนยันว่า HR ไม่ใช่คนที่ดูแลหลังบ้านอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องก้าวมาข้างหน้า วางแนวทางพัฒนาองค์กรร่วมกัน เพราะ “คน” เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในองค์กร
สามารถฟังบทสัมภาษณ์แบบ Podcast ได้ที่นี่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา