จากการเก็บข้อมูลดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) พบว่าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช น้ำมันพืช และน้ำตาล มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
โดยตัวเลขในเดือนพฤษภาคมสูงกว่าตัวเลขของปีที่แล้วถึง 40%
หลายปัจจัยส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น
ต้นทุนการขนส่งทางทะเลที่สูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และผลกระทบในห่วงโซ่การผลิตจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การเก็บเกี่ยวที่ล่าช้า การลดการผลิต ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น
นอกจากนี้สถานการณ์โควิดในจีนที่ดีขึ้นก็มีส่วนเช่นกัน เพราะทำให้จีนที่เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่มการซื้อมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้สินค้าขาดแคลน
สินค้าเกษตรแพง = ราคาอาหารแพง
ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า รายได้จากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น 14% ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับรายได้จากปีที่แล้ว โดยมาจากการขยายตัวของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลและข้าวรายใหญ่ของโลก
กรณีของไทยเป็นสถานการณ์ในภาพรวมกว้างๆ เมื่อพิจารณาในประเทศอื่นจะพบว่าผู้ผลิตในหลายประเทศประสบปัญหาแบกรับต้นทุนไม่ไหว จำเป็นจะต้องขึ้นราคาสินค้า
เห็นได้จากการประกาศขึ้นราคาสินค้าของผู้ผลิตอาหารในประเทศโซนเอเชีย เช่น
บริษัท Nisshin Seifun Group ผู้ผลิตแป้งในญี่ปุ่นมีแผนจะขึ้นราคาผลิตภัณฑ์แป้งที่ใช้ในครัวเรือน 2% เป็น 5% ภายในเดือนกรกฎาคม เพราะไม่สามารถรับภาระราคาวัตถุดิบ ราคาบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นได้
บริษัทผู้ผลิตอาหารอย่าง Ajinomoto ก็จะขึ้นราคามายองเนสเป็น 10% ภายในเดือนหน้าซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เป็นส่วนประกอบของมายองเยสมีราคาสูงขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน
ในเกาหลี แบรนด์ Paris Baguette ร้านขนมปังเจ้าดังของเกาหลีที่ขยายสาขาไปทั่วโลกก็ได้ขึ้นราคาขนมปัง 5.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเดียวกัน ในจีนก็เช่นกัน โดยราคาน้ำมันถั่วเหลือแบรนด์ท้องถิ่นบางเจ้าเพิ่มขึ้นแล้ว 20% ในเดือนเมษายน
ราคาสินค้าที่สูงขึ้นกลับเป็นผลดีต่อการจ้างงาน
ชาวนาและผู้ส่งออกสินค้าในเอเชียเตรียมรับผลประโยชน์จากการขึ้นราคาสินค้าในครั้งนี้
Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์จาก Maybank Kim Eng กล่าวว่า การขึ้นราคาสินค้าโดยเฉพาะอาหารจะเป็นการเพิ่มรายได้และการจ้างงานในชนบท
โควิดทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดที่กินเวลายาวนานและยอดผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นจะกระทบกับการซื้อขายสินค้าประเภทอาหารซึ่งจะทำให้ภาพรวมแนวโน้มราคามีความซับซ้อน
Chua Hak Bin ยังได้กล่าวถึงประเทศยากจนและครอบครัวที่มีรายได้น้อยว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร โดยเสริมว่าราคาอาหารที่แพงขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อเอเชียในการฟื้นตัวจากโควิด และทำให้เศรษฐกิจที่ติดขัดอยู่แล้วย่ำแย่ลงกว่าเดิม
ที่มา: Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา