หมดยุค H&M หลังอดีตยักษ์ Fast Fashion เปิดร้าน Afound ขายสินค้าลดราคา หวังระบายสต๊อกคงค้าง

ปกติแล้วการเปิดร้านใหม่น่าจะเป็นเรื่องดี แต่คงไม่ใช่กับ H&M ที่กำลังจะเปิดร้านใหม่ในชื่อ Afound ที่จำหน่ายแต่สินค้าลดราคา เพราะจุดประสงค์จริงๆ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มยอดขาย แต่แค่หวังระบายเสื้อผ้า Fast Fashion ค้างสต๊อก

Buyers in H&M clothing store. H&M Hennes & Mauritz AB is a Swedish multinational clothing-retail company, clothing for men, women, teenagers and children.
การ Sale ในร้าน H&M

ปัญหาสินค้าคงค้างทำบริษัทไร้สภาพคล่อง

ในอดีต H&M เคยเป็นผู้นำในตลาด Fast Fashion เพราะสามารถทำราคาได้ถูก และออกแบบเสื้อผ้าแต่ละชุดได้เร็ว และตรงความต้องการผู้ซื้อ แต่ปัจจุบันมันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะถูก Zara ขึ้นมายึดตำแหน่งนี้แทน ผ่านการผลิตเสื้อผ้าที่ถอดแบบจาก Runway เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถวางขายได้ ขณะที่ H&M ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน

และเมื่อผลิตออกมาได้ช้า ทำให้เสื้อผ้าบางชุดของ H&M นั้นตกเทรนด์ไปแล้ว จนกลายเป็นสินค้าคงค้างสต๊อกจำนวนมาก ทำให้สภาพคล่องของบริษัทค่อยๆ ลดลง รวมถึงฝั่งยอดขายเองก็ถดทอย ถึงขั้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 บริษัทมียอดขายลดลงที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา และทั้งกลุ่มก็มียอดขายลดลงถึง 4% อีกด้วย

จึงไม่แปลกที่สุดท้าย H&M ต้องหันมาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าลดราคาโดยเฉพาะ เพื่อระบายสินค้าค้างสต๊อกให้ออกไปให้หมด โดยจะเริ่มในปี 2561 นี้ภายใต้ชื่อร้าน Afound เปิดในสวีเดนก่อน มีทั้งหน้าร้านปกติ และช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีแผนขยายไปในประเทศอื่นๆ ในพื้นที่ยุโรป แต่ยังไม่มีแผนขยายไปในพื้นที่อื่นๆ

H&M logo brand building
ภาพโดย MediaPhoto.Org (mediaphoto.org Own work) [CC BY 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons
สำหรับสินค้าที่จะจำหน่ายในร้าน Afound ประกอบด้วยสินค้าของแบรนด์ในเครือ H&M เช่น H&M เอง และ & Other Stories กับ Cos รวมถึงสินค้านอกเครืออีกเล็กน้อย แต่ทั้งหมดจะเหมือนกันคือ “จำหน่ายในราคาลดพิเศษ” ซึ่งตอนนี้ก็มีค้าปลีกในสหรัฐฯ อาทิMacy และ Nordstrom ทำร้านแบบนี้เพื่อหวังระบายสินค้าเช่นกัน

Karl-Johan Persson ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ H&M เคยกล่าวไว้เมื่อไตรมาส 3 ปี 2560 ว่า การจำหน่ายสินค้าราคาถูก แม้ได้กำไรน้อย แต่ก็ช่วยระบายสินค้า ในทางกลับกันผู้ซื้อกลับมองว่า การแปะป้ายลดราคาเต็มร้านมันลดค่าของแบรนด์ และไม่ดึงดูดให้เข้าไปซื้อสินค้าในร้านในบางโอกาส

สรุป

มันชัดเจนจริงๆ ว่า H&M กำลังแย่ เพราะเมื่อผลิตสินค้าตามเทรนด์แฟชั่นไม่ทัน ความเป็น Fast Fashion ก็จบลงแล้ว และคงต้องพ่ายแพ้ให้กับกลุ่ม Zara อย่างศิโรราบ นอกจากนี้ส่วนตัวเชื่อว่า H&M จะขยายหน้าร้าน Afound ออกไปมากกว่ายุโรปแน่ๆ เพราะในอนาคตคงมีสินค้าคงค้างในระบบอีกเยอะ

อ้างอิง // Business Insider, H&M

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา