ด้านมืด Affiliate Link : คนรีวิวได้เงินง่าย คนซื้อได้ของไม่ตรงปก

‘อินฟลูเอนเซอร์’ กลายมาเป็นคำยอดฮิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเอาไว้เรียกบุคคลที่มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดีย พูดอะไรคนก็อยากฟัง ทำอะไรคนก็อยากทำตาม เมื่อเราก้าวจากการเป็น ‘ใครสักคน’ กลายเป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ ได้ ทุกการกระทำของเราที่เผยแพร่ไปบนอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบของคอนเทนต์ จะมีผู้คนเข้ามาให้ความสนใจ ยิ่งเรามีความน่าเชื่อถือเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เรามีโอกาสโน้มน้าวผู้คนได้มากยิ่งขึ้น ยอดเข้าชม ยอดผู้ติดตาม ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งหมายถึงโอกาสที่เราจะทำเงินจากตัวเลขเหล่านี้ได้ จึงไม่แปลกที่ใครๆ ต่างอยากจะก้าวขึ้นมาเป็นอินฟลูฯ กันทั้งนั้น

เราอาจเห็นช่องทางการทำเงินจากสื่อที่มีในมือของอินฟลูในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสปอนเซอร์ที่แฝงมากับคอนเทนต์ต่างๆ การจ้างรีวิวสินค้า หรือโฆษณาในรูปแบบอื่นๆ แต่สิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ เป็นโฆษณาแฝงอันแนบเนียน ที่หมิ่นเหม่อยู่กับความถูกต้อง ความจริงใจต่อผู้บริโภค อย่าง ‘Affiliate Link’ อีกหนึ่งช่องทางทำเงินของอินฟลูฯ ไม่ว่าจะเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่ หรือเป็นแค่ใครบางคนบนอินเทอร์เน็ต ก็สามารถหาเงินจากลิงก์สั้นๆ นี้ได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันที่หลายคนเจอคือ การรีวิวที่มาพร้อมลิงก์ป้ายยาให้ไปซื้อแบบนี้ กลายเป็นรีวิวไม่จริง ตัวเองไม่ได้ใช้ และทำให้ผู้บริโภคถูกหลอกเรื่องคุณภาพของสินค้ากันง่ายๆ เป็นจำนวนมาก

ทำความรู้จัก Affiliate Link ลิงก์สั้น ทำเงินง่าย

Affiliate Link มักถูกเรียกสั้นๆ ว่า Aff Link ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด มันคือการตลาดบนโลกออนไลน์รูปแบบหนึ่ง ด้วยการที่อินฟลูฯ นำลิงก์ของสินค้ามาใส่ไว้ในคอนเทนต์ เพื่อให้ผู้อ่านคลิกเข้าไปดูสินค้าหรือซื้อสินค้าผ่านลิงก์นั้น ยิ่งมีคนคลิกเข้าไปดูหรือคนซื้อสินค้าผ่านลิงก์ที่ว่านั้นมากเท่าไหร่ อินฟลูฯ จะได้รายได้จากลิงก์นั้นมากเท่านั้น หากยังไม่เห็นภาพ ลองมาดูสถานการณ์ตัวอย่างนี้กัน

เริ่มจาก อินฟลูฯ A เห็นว่าสินค้าแก้วเก็บความเย็น น่าสนใจ เหมาะกับกลุ่มผู้ติดตามของตนมาก จึงสร้าง Affiliate Link ของสินค้านั้น และนำไปใส่ในคอนเทนต์ของตนเอง อาจอยู่ในรูปแบบของคอนเทนต์รีวิว มีภาพของสินค้าจริง ว่าใช้แล้วเป็นแบบนี้นะ หน้าตาสวยงามแบบนี้นะ เก็บความเย็นได้กี่ชั่วโมง พร้อมเปรยๆ ไว้ว่า หากใครสนใจตามไปซื้อได้ที่ … พร้อมกับแปะ Aff Link ให้คนอ่านตามไปซื้อสินค้าจาก Aff Link ของตน 

ทีนี้ Aff Link มีวิธีการทำเงินอยู่ 3 แบบ 

  1. Pay Per Sale (PPS) เจ้าของสินค้าจะจ่ายเงินให้อินฟลูฯ ทุกครั้งที่เกิดการซื้อขาย เข้ามาดูเฉยๆ ก็ไม่ได้เงิน ต้องมีการซื้อขายเกิดขึ้นเท่านั้น อินฟลูฯ ถึงจะได้รายได้จากลิงก์นี้ 
  2. Pay Per Lead (PPL) คล้ายๆ กับแบบแรก แต่เป็นจ่ายเมื่อเกิดการลงทะเบียน เช่น สมัครรับข่าวสาร บัตรดิต 
  3. Pay Per Click (PPC) ทุกการคลิกเข้าไปดูสินค้าผ่านลิงก์ อินฟลูฯ ก็จะได้รายได้แล้ว 

เอ๊ะ! ถ้าแค่คลิกก็ได้เงินแล้ว มันจะง่ายเกินไปหรือเปล่า? แน่นอนว่ารายได้ของทั้งสองแบบย่อมแตกต่างกัน แบบ PPS จะมีค่าตอบแทนสูงกว่าแบบ PPC ซึ่งก็สมเหตุสมผล ถ้าหากเกิดการซื้อขายแล้วจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่าการเข้าไปดูสินค้าเพียงอย่างเดียว จะเลือกใช้ลิงก์แบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสินค้านั้นๆ อย่าง PPS ที่ต้องรอให้เกิดการซื้อขาย ก็อาจเหมาะกับสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง ราคาเป็นมิตร ส่วน PPC อาจเป็นสินค้าที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อย เน้นไปที่การเก็บรายได้แบบ evergreen มากกว่า

แม้ Aff Link จะเป็นรายได้ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก จะเห็นรายได้เป็นกอบเป็นกำจริงหรือ? ข้อมูลจากธนาคารกรุงเทพบอกว่า มูลค่าของ Affiliate Marketing ในประเทศไทยปี 2563 สูงราว 224 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี อาจจะพอทำให้เราเห็นภาพว่า ทำไมใครๆ ก็อยากปั้นตัวเองขึ้นมาเป็นใครสักคนบนโซเชียลมีเดีย 

ขายผ่าน Aff Link ใช้จริงหรือแค่โฆษณา?

หลายครั้งที่เราเห็นอินฟลูฯ สายรีวิว หยิบสินค้าตัวนั้นตัวนี้มารีวิวถึงความปัง มาพร้อมทั้งภาพสินค้าสวยงามและแคปชั่น เน้นย้ำด้วยคีย์เวิร์ดเย้ายวนใจ ของมันต้องมี ชิ้นนี้มันต้องโดน พร้อมกับแปะลิงก์สั้นๆ ไปยังแอปพลิเคชั่นช็อปปิ้งเจ้าดัง ไม่ว่าจะแอปฯ ส้มหรือแอปฯ น้ำเงิน หากมองเผินๆ อาจจะคิดว่าก็แปะลิงก์เพื่อไปยังสินค้าชิ้นนั้นไง แต่จริงๆ แล้ว ลิงก์เหล่านั้นส่วนใหญ่ เป็น Aff Link ที่เจ้าของลิงก์จะได้รายได้ในทุกการคลิกเข้าไปชมสินค้าหรือเมื่อเกิดการซื้อขายด้วย ว่ากันง่ายๆ เจ้าของลิงก์ก็ได้ส่วนแบ่งจากการโฆษณาให้เจ้าของสินค้านั่นเอง 

เราก็เลยได้เห็นอินฟลูฯ หลายคน ผันตัวมาเป็นนักรีวิว หรือวันดีคืนดีก็หยิบสินค้าชิ้นชั้นชิ้นนี้มารีวิวพร้อมแปะลิงก์เสร็จสรรพ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงลิงก์ชี้เป้าไปยังสินค้า เหมือนที่เห็นกันในหลายๆ แพลตฟอร์ม ชี้เป้าของถูก ชี้เป้าของน่าโดน ประจำเทศกาลของลดราคาในแต่ละเดือน แต่ลิงก์เหล่านั้นกลายเป็นช่องทางทำเงินให้กับเหล่าอินฟลูฯ โดยที่ผู้บริโภคบางคนยังไม่รู้ถึงเงื่อนไขนี้ด้วยซ้ำ

ฟังดูเหมือนจะวิน-วินกันทุกฝ่าย เจ้าของสินค้าได้คนช่วยโฆษณาสินค้าในวงกว้าง อินฟลูฯ ได้ยอดผู้ติดตาม ได้รายได้จาก Aff Link แล้วผู้บริโภคล่ะ จะได้อะไรจากการตลาดนี้? 

คงไม่เป็นอะไรหากรีวิวนั้น มาจากการใช้งานจริง สินค้ามีคุณภาพ เกิดความพึงพอใจจริงๆ จนอยากนำมาบอกต่อ แต่ถ้าเกิดรีวิวนั้น เป็นเพียงการซื้อสินค้ามาถ่ายรูป แล้วจบไป ตัวอินฟลูฯ เองก็ไม่ได้ใช้สินค้านั้น หรือซ้ำร้าย แค่ก็อปรูปสินค้ามาจากต้นทาง ไม่ได้เคยซื้อหรือเคยใช้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่อยากได้คอนเทนต์รีวิวขึ้นมาสำหรับการแปะ Aff Link เพื่อหวังรายได้จากลิงก์นั้น เลยทำให้เกิดความหมิ่นเหม่ทางจรรยาบรรณของผู้ผลิตคอนเทนต์ขึ้นมา ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ กำลังเข้าข่ายความไม่จริงใจต่อผู้บริโภคหรือเปล่า เช่น ปลั๊กไฟสุดมินิมอล ของมันต้องมี แต่ที่ไม่มีคือ มอก. หรือ พาวเวอร์แบงค์ขนาดเล็กกระทัดรัด แต่หาความปลอดภัยไม่ได้เลย เป็นต้น หากจะบอกว่าไม่ได้บังคับให้ซื้อ เพียงแค่ชี้เป้าเท่านั้น ก็เป็นอีกการเลี่ยงบาลีที่พอจะฟังได้ แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค 

สุดท้ายแล้ว แม้อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ จะเป็นอาชีพที่เพิ่งเกิดในเวลาไม่กี่ปีมานี้ แต่จรรยาบรรณของอาชีพ ความจริงใจต่อผู้บริโภค ยังคงสำคัญไม่ต่างกับอาชีพอื่น เพราะอย่างไรก็ถือว่าได้เป็นผู้ผลิตสื่อออกไปสู่สาธารณะ จึงควรรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาของสื่อที่สื่อสารออกไปด้วย

อ้างอิง

https://stepstraining.co/content/affiliate-marketing-for-influencer-on-instagram 

https://www.bangkokbanksme.com/en/affiliate-marketing 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา