หลอนเพลงอีกรอบ! Aerosoft ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2024 ชูกลยุทธ์ Sport Marketing สื่อสารแบรนด์

Aerosoft แบรนด์รองเท้าสัญชาติไทยของตระกูล จึงรุ่งเรืองกิจ ติดใจการสนับสนุนถ่ายทอดสดกีฬา ล่าสุดเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด UEFA Euro 2024 อีกครั้ง หวังใช้กลยุทธ์ Sport Marketing ช่วยสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเติบโตอย่างยั่งยืน

Euro 2024
ภาพจาก รัฐบาลไทย

Aerosoft ซื้อลิขสิทธิ์ Euro 2024 ในไทยอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 มิ.ย. 2024 เป็นอีกครั้งที่ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด เจ้าของรองเท้า Aerosoft ประกาศซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน Euro 2024 หรือฟุตบอลยูโร 2024 หลังเคยซื้อลิขสิทธิ์ครั้งก่อน หรือ Euro 2020 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2021 เพราะติดปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด

การซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ Aerosoft ไม่ได้แจ้งตัวเลขมูลค่าการซื้อลิขสิทธิ์เหมือนครั้งก่อนที่ลงทุนไปราว 10 ล้านยูโร หรือประมาณ 300 ล้านบาท แต่ที่เหมือนกันคือ เป็นการซื้อลิขสิทธิ์แบบฉิวเฉียดนัดเปิดสนาม เพราะครั้งก่อนแจ้งข่าวซื้อลิขสิทธิ์วันที่ 10 มิ.ย. ก่อนแข่งแค่ 1 วัน ส่วนครั้งนี้ก็เกิดก่อนการแข่งขันนัดแรกวันที่ 14 มิ.ย. (ตามเวลายุโรป)

การที่ไม่ฉุกละหุกสุด ๆ เหมือนครั้งก่อน หรือเหลือเวลาก่อนการแข่งขันราว 1 สัปดาห์ ทำให้มีบริษัทเอกชนชั้นนำเข้ามาร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็น บมจ. ปตท., บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ. ท่าอากาศยานไทย และ บมจ. การบินกรุงเทพ

Euro 2024
ภาพจาก UEFA Euro 2024

ไม่เป็นช่องทางทำตลาดสำคัญเหมือนครั้งก่อน ๆ

แม้การแข่งขัน Euro 2024 มีทั้งหมด 51 นัดการแข่งขัน ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย. – 14 ก.ค. 2024 (ตามเวลายุโรป) หรือกินช่วงเวลา 1 เดือนเต็ม แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ Euro 2024 ไม่ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการทำตลาดเพื่อสื่อสารแบรนด์เป็นวงกว้างในประเทศไทย เช่นเดียวกับครั้งที่จัดเมื่อปี 2021

หากตรวจสอบดูจะพบว่า แบรนด์อาหาร และเครื่องดื่มที่มักจะมีส่วนสำคัญในการทุ่มงบโฆษณาเพื่อสื่อสารการตลาดผ่านการแข่งขันดังกล่าวก็ไม่ได้ทำแคมเปญอะไรออกมา เต็มที่มีเพียงผู้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 อย่างเป็นทางการระดับโลก หรือ Official Global Sponsors เท่านั้นที่ใช้การแข่งขันนี้มาช่วยทำตลาด

เช่น BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่กำลังกระแสแรงในไทย มีการใช้โลโก้การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ในป้ายโฆษณาต่าง ๆ และหวังการเป็น Official Global Sponsors ช่วยสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งในลักษณะดังกล่าวยังมี Vivo และ Hisense แบรนด์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนทำด้วยเช่นกัน

Aerosoft
ภาพจาก รัฐบาลไทย

ขนาดนายกฯ ยังบอกว่าช่วยแค่ร้านค้าคึกคัก

ขณะเดียวกันในงานแถลงข่าวประกาศผู้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2024 ในไทย เศรษฐา ทวีสิน ยังแจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า ตนมองว่าไม่น่าจะทำให้การท่องเที่ยวคึกคัก แต่จะทำให้ร้านอาหาร และสปอร์ตบาร์ หลาย ๆ แห่ง คึกคักมากกว่า โดยการแข่งขันนี้จะถ่ายทอดสดผ่านช่องฟรีทีวีประกอบด้วย NBT, MCOT และ PPTV

ในมุมผู้ประกอบการค้าปลีก เช่น Supersports ค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาในเครือ บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ยังหวังว่า ฟุตบอลยูโร และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2024 จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายอุปกรณ์กีฬาไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกัน Power Mall ค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าในเครือเดอะมอลล์ มีการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายโทรทัศน์เช่นกัน

อย่างไรก็ตามด้วยการประกาศแบบกะทันหัน ก็ไม่แปลกที่จะทำให้แบรนด์ต่าง ๆ วางแผนในการทำตลาดไม่ทัน และด้วยความบันเทิงในปัจจุบันมีหลากหลาย มหกรรมกีฬาอาจไม่ใช่หนึ่งในช่องทางสำคัญที่สุดในการทำตลาดอีกต่อไป ทำให้หลายแบรนด์ไม่ได้ให้ความสำคัญนัก และหันไปจริงจังกับช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับแบรนด์มากกว่า

Aerosoft

ย้อนดูผลงาน Aerosoft หลังซื้อลิขสิทธิ์ Euro 2020

หากย้อนไปดูรายได้ของ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพบว่า ในปี 2021 ที่บริษัทลงทุนซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 บริษัทนี้มีรายได้รวม 1,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% มีกำไรสุทธิ 268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,869%

แต่ในปี 2022 บริษัทกลับมีรายได้รวม 889 ล้านบาท ลดลง 23% ขาดทุนสุทธิ 6 ล้านบาท และปี 2023 บริษัทมีรายได้รวม 713 ล้านบาท ลดลง 19% ขาดทุนสุทธิ 147 ล้านบาท ถ้าเป็นอย่างนี้อาจคำนวณได้ว่า การซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้แค่ระยะสั้น

แม้ยอดขายอาจไม่พุ่งดังกล่าว แต่ถ้ามาดูในส่วนของงบดุลของ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด จะพบว่า บริษัทนี้ยังมีความมั่นคงสูง เพราะมีสินทรัพย์รวม 2,352 ล้านบาท มากกว่าหนี้สินรวม 107 ล้านบาท และที่แน่ ๆ ผู้เขียนเชื่อว่า เพลง เชียร์ยูโร Aerosoft เชียร์ยูโร จะกลับมาหลอกหลอนทุกคนจนจดจำแบรนด์ได้อีกครั้ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา