สรุปแล้วหน่วยงานรัฐก็ใช้วิธีเดิม ๆ กับ ยูโร 2020

ยูโร 2020

ในที่สุดประเทศไทยก็ได้สิทธิ์รับชมศึกฟุตบอล ยูโร 2020 กันแบบถูกลิขสิทธิ์

คนที่รับบทฮีโร่ไม่ใช่ใครที่ไหน ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์นั่นเอง

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นบนเพจเฟสบุ๊ก NBT2HD Sport ตอน 22.32 น. วันที่ 10 มิ.ย.

ก่อนการแข่งขัน ยูโร 2020 เริ่มเตะเพียง 30 ชม. เท่านั้น

ฉิวเฉียดจัด ๆ

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานรัฐรับบทเป็นฮีโร่ในการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์

จะมีครั้งไหนบ้าง คำตอบอยู่ถัดจากบรรทัดนี้

เริ่มด้วยฟุตบอลโลก 2018

ตอนนั้นไม่มีธุรกิจใด ๆ ให้ความสนใจซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาแพร่ภาพในไทย

แถม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีวีพูล ก็กลัวขาดทุนจากการซื้อลิขสิทธิ์

สุดท้ายรัฐบาลคสช. ออกโรงขอความร่วมมือ (หรือบังคับ) ภาคเอกชน 9 รายลงขันกันรวม 1,400 ล้านบาท

เช่น บีทีเอส, ไทยเบฟฯ, กลุ่มซีพี, กัลฟ์เอ็นเนอร์จี และปตท. เป็นต้น

การถ่ายทอดทำผ่านช่องททบ. 5, ช่องทรูฟอร์ยู, ช่องอมรินทร์ และบริการของทรูวิชั่นส์

ด้วยการเจรจาที่ล่าช้า จึงไม่แปลกที่ FIFA จะโก่งราคา จนต้นทุนสูงอย่างที่เห็น

นี่ขนาดบรรลุข้อตกลงกันก่อนประมาณ 2 เดือนนะ

ส่วนเม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ฟู่ฟ่า

เพราะธุรกิจที่โฆษณาในช่วงการแข่งขันมีแค่ 9 รายที่ร่วมลงขัน แน่นอนว่ามีโฆษณาเฉพาะก่อนเร่ิมและช่วงพักครึ่งเท่านั้น

ส่วนทีวีดิจิทัลช่องอื่นก็ไม่ได้อยากทำข่าว ทำสกู๊ป อะไรมาก เพราะทำเงินจากค่าโฆษณาไม่ได้

จากปัจจัยข้างต้นนี้ก็น่าจะรู้แล้วว่า การทุ่มเงินหลักพันล้านซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมันคุ้มหรือไม่

ต่อที่อีกกรณีคือ ฟุตบอลโลก 2014

ครั้งนั้น อาร์เอส ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาแพร่ภาพในประเทศไทย

หวังทำรายได้จากกีฬาด้วยการขายกล่อง และค่าสมาชิก

เพราะถ้าจะดูฟุตบอลโลกให้ได้เต็มที่จริง ๆ ต้องดูบนกล่องอาร์เอสเท่านั้น

สุดท้ายเรื่องราวมันก็ไม่เป็นอย่างฝัน เมื่อ กสทช. เข้ามาควบคุมเรื่องนี้ด้วยการส่งกฎ Must Have

ที่มีเนื้อหาว่า 7 ชนิดกีฬาระดับมวลมนุษยชาติ ซึ่งฟุตบอลโลกคือหนึ่งในนั้น ทุกคนในไทยต้องรับชมผ่านช่องทีวีดิจิทัลได้ทั้งหมด

ทั้งมาพร้อมกับกฎ Must Carry ที่คุ้มครองให้รายการที่แพร่ภาพบนทีวีดิจิทัล ต้องรับชมบนกล่อง หรือทีวีบอกรับสมาชิกอื่น ๆ ได้

ง่าย ๆ คือป้องกันจอดำ

ถ้าให้สรุปทั้งสองกรณีแบบสั้น ๆ ก็คงไม่พ้นหน่วยงานรัฐ “บีบไข่” เอกชนนั่นเอง

ไม่รู้ว่าต้องการซื้อใจ หรืออยากให้ทุกคนได้ดูรายการแข่งขันดังกล่าว แต่การทำแบบนี้เท่ากับบิดเบือนกลไกตลาดที่กำลังเดินหน้า

และล่าสุดมันก็เกิดขึ้นกับฟุตบอล ยูโร 2020

ที่มีกรมประชาสัมพันธ์นำหน้า และยังไม่มีการเปิดเผยเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันครั้งนี้

แต่เป็นไปได้ว่าไม่ต่ำกว่าเงินค่าลิขสิทธิ์ที่เคยจ่ายไปกับการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลครั้งก่อน

เราก็คงต้องรอดูช่วงโฆษณาว่าเอกชนรายไหนบ้างที่ถูกบีบไข่มาซื้อ และจะมากน้อยแค่ไหน เพราะยังไงก็ไม่คุ้มกับธุรกิจอยู่แล้ว

ต้องไม่ลืมว่าเงินที่กรมประชาสัมพันธ์จ่ายเพื่อซื้อค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอล ยูโร 2020 ก็คือ ภาษีของทุกคนนั่นเอง

สรุปไม่รู้จะดีใจที่ได้ดู ยูโร 2020 ดีมั้ย?


รายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 เวลา 16.36

อ้างอิงข้อมูลจากการแถลงข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ การถ่ายทอดสดฟุตบอล ยูโร 2020 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้ร่วมมือกับ Summit Footware ผู้ผลิต และจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ Aerosoft เพื่อถ่ายทอดการแข่งขันดังกล่าว โดยงบประมาณในการซื้อลิขสิทธิ์เบื้องต้นอยู่ที่ 10 ล้านยูโร และยืนยันว่าไม่มีการใช้เงินภาษี เป็นการสนับสนุนโดย Summit Footware เท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา