คุยกับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย: โรคระบาดใช้สถิติจับไม่ได้ ความเสี่ยงสูง มีหลายปัจจัยต้องคิด

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีประเด็นสินมั่นคงประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแบบเจอ จ่าย จบ และให้ประกันภัยสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ จนทำให้ผู้คนที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตโรคระบาดขาดความมั่นใจและศรัทธาต่อวงการประกันภัยพอสมควร หนึ่งในอาชีพที่ผู้คนถามถึงกันมากในห้วงเวลาดังกล่าวคืออาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย วันนี้ Brand Inside พาไปคุยเพื่อไขข้องใจถึงการคำนวณความเสี่ยงในแง่ของผู้รับประกันต่อผู้เอาประกันท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 มีวิธีคิดอย่างไรบ้าง

สถานการณ์โรคระบาดใช้สถิติจับไม่ได้ ต้องใช้หลายปัจจัยประกอบ

อาจารย์ทอมมี่ พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS) และอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 3 สมัย พูดถึงเรื่องการคำนวณความเสี่ยงว่า แบบประกันแต่ละแบบต้องคำนวณความเสี่ยงในอนาคตว่าจะจ่ายเท่าไร จ่ายเมื่อไร ที่ผ่านมาเราจะต้องอาศัยหลักทางสถิติ ซึ่งเป็นสถิติที่จำลองอนาคตได้ เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริษัทว่า มองตัวแปรครบแค่ไหน ในการมองว่าอนาคตเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ปัจจัยเสี่ยง รับเงินเท่าไร จ่ายเงินประมาณเท่าไร รับความเสี่ยงได้แค่ไหนที่จะไม่ให้ล้มละลาย

โดยจุดเสี่ยงของตัวประกันโควิดที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยประเมิน จุดแรกคือมั่นใจแค่ไหน อะไรที่เป็นโรคระบาดใช้สถิติจับไม่ได้ อย่าเชื่อสถิติ ต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบ ซึ่งการจัดการของภาครัฐก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเคลมประกันภัยด้วย ปัจจัยที่ต้องนำมาคำนวณในสถานการณ์ปัจจุบันมีสี่เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือปัจจัยด้านการจัดการของรัฐบาล เช่น ประสิทธิภาพการล็อคดาวน์ การจัดหาและจัดการเรื่องฉีดวัคซีน การบริหารเตียง การจัดการบุคลากรของภาครัฐ นโยบายการตรวจหาเชื้อ รวมไปถึงการอนุมัติเครื่องมือตรวจที่ให้ประชาชนตรวจใช้เองได้ เราจะได้เห็นภาครัฐมีวิธีการจัดการแตกต่างกัน ดูโมเดลของรัฐแต่ละที่ ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก 

ปัจจัยที่สอง วิวัฒนาการของไวรัส ประกันภัย ณ ปัจจุบัน ไม่ได้เขียนคลอบคลุมไวรัสทุกสายพันธุ์ ถ้าเอาสถิติแค่ไวรัสจากจีน ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมไวรัสตัวอื่นเช่น เดลตา ยิ่งไวรัสกลายพันธุ์ ก็จะทำให้ติดได้ง่ายขึ้น ตามแพทเทิร์นไข้หวัดสเปน ดูเวฟจากไวรัส เวฟวิวัฒนาการของไวรัส พวกนี้จะต้องเป็นปัจจัยที่นำมาคิดด้วย ดูด้วยว่าคุ้มครองยาวนานเท่าไร ถ้าคุ้มครองหนึ่งปี ยาวไปไหม ในหนึ่งปีนี้เราคิดมาดีแล้วว่า ไวรัสวิวัฒนาการแบบไหน คุ้มครองความเสี่ยง ต้องประมาณตัวเองให้ได้

ต้องคาดการณ์ว่าไวรัสที่กลายพันธุ์ทุกครั้งจะทำให้ติดง่ายขึ้น อาจต้องเผื่อเรื่องนี้ขึ้นมา 2 เท่า ซึ่งในตอนนี้เดลตา ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 1.5 เท่าซึ่งถ้าเราลืมคิดจุดนี้ ก็อาจทำให้เสี่ยงขาดทุนได้ ระลอกหนึ่ง ติดไวรัสแบบแรก ระลอกสอง ติดไวรัสง่ายแบบเดลตา ระลอกสาม อาจติดในเด็กหรือติดง่ายขึ้นกว่าเดลตาอีก

vaccine, covid 19
Shutterstock

ยิ่งล็อคดาวน์ ความร่วมมือยิ่งลด ต้องเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัจจัยที่สาม วิวัฒนาการของวัคซีน ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนอังกฤษ วัคซีนจีนออกตอนไหน อยู่ที่การแข่งขันเทคโนโลยีกัน สู้กับไวรัส  ต้องมองความสัมพันธ์วัคซีนกับไวรัส (จุดสังเกตส่วนตัวของอาจารย์ทอมมี่คือ ยิ่งวัคซีนออกมาเร็วโดยไม่ได้ทดสอบมากเท่าไร โอกาสในการกลายพันธุ์ของไวรัสยิ่งมีมาก ยังไม่เคยมีใครทำสถิติจุดนี้) 

ปัจจัยที่สี่ การประเมินพฤติกรรมของคนในอนาคต เราจะเห็นข่าวบ่อยมาก เริ่มมาตั้งแต่แรก เช่น เจอ จ่าย จบ เจอปุ้บ จ่ายปั้บ เค้าจะมีทุนวงเงินประกันในระดับหนึ่ง หลักประกันถ้าต้องการขายประกันตัวหนึ่ง ต้องมีวิธีพิจารณารับประกัน เช่น ซื้อซื้อประกันชดเชยรายได้ สมมติประกันจะจ่ายให้วันละ 5 พัน แต่ถ้ามีรายได้วันละ 100 บาท อาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ทันระมัดระวัง หรือประมาทมากขึ้น

จากประสบการณ์ตรงที่เคยทำงานในต่างประเทศ ตัวอาจารย์ทอมมี่เคยถูกส่งไปตรวจสอบแบบประกันภัยที่เลบานอนว่า ทำไมบริษัทถึงขาดทุนมหาศาล ปรากฎว่ามีการให้นอนโรงพยาบาลและชดเชยรายวันได้ ก็พบว่ามีคนมาใช้บริการและมีจำนวนผู้รับประกันที่มีการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมากขึ้น พอย้อนกลับนั่งดูข้อมูลย้อนหลังก็พบว่า เข้านอนโรงพยาบาลได้ชดเชยเงินมากกว่าค่าแรงที่ปกติได้รับอยู่ถึง 10 เท่า เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มที่ไปนอนโรงพยาบาลเยอะมาก อาจจะเข้าโรงพยาบาลและอยากอยู่นานขึ้น การพิจารณารับประกันของบริษัทประกันจึงต้องพิจารณาเรื่องแรงจูงใจพวกนี้ก่อนจะรับประกันเข้ามาด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

บริษัทประกันแต่ละบริษัท เวลาออกแบบผลิตภัณฑ์ ถ้าเราขายทุนประกันแบบหนึ่ง ต้องคิดว่ากลุ่มลูกค้าเป็นแบบไหน ลูกค้ามีพฤติกรรมทุกรูปแบบ มีตั้งแต่ระดับแค่เลินเล่อ ประมาท เจาะจง จนกระทั่งถึงจงใจ หรือโกง 

ในส่วนของการจัดการของรัฐ เช่น เรื่องล็อคดาวน์ เป็นปกติสำหรับทุกประเทศอยู่แล้วที่ประสิทธิผลของการล็อคดาวน์จะลดลง เมื่อมีการสั่งล็อคดาวน์บ่อยครั้งขึ้น ครั้งแรกจะได้รับความร่วมมือ แต่ความร่วมมือลดลงเรื่อยๆ ในการล็อคดาวน์แต่ละครั้งมีการดื้อยาทางพฤติกรรมเกิดขึ้น อาจารย์ทอมมี่มองว่า การให้ความเยียวยาคือหนึ่งในทางออก ในประเทศอื่นมีการทำ UBI หรือ Universal Basic Income คือการแจกเงินให้ได้เท่ากับค่าครองชีพในการใช้ชีวิต ปรากฎว่าเศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งเหล่านี้มันช่วยได้ ถ้ายกตัวอย่างสิ่งที่ดีในอดีตก็คือ เบี้ยผู้สูงอายุ ที่ให้ทุกคน ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ช่วยในส่วนของสวัสดิการคนไทยได้

COVID-19

การเข้าถึงการตรวจโควิดให้ง่ายขึ้น จะช่วยสะท้อนภาพจำนวนคนติดโรคชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ อาจารย์ทอมมี่มองว่าเกิดพฤติกรรมทางอ้อม ทำไมพักหลังมีคลัสเตอร์เยอะขึ้น พรู้ว่าจะมีวัคซีนมา คนก็เริ่มประมาท อีกปัจจัยที่น่าสนใจก็คือจุดบ่งชี้ถึงอันตรายถึงแนวโน้มคนติดโควิดมากขึ้น โดยให้ดูได้จาก Hit rate เช่น ดูคนตรวจ 100 คน จะมีจะมีเปอร์เซ็นต์คนติดไปกี่คน ถ้าตัวเลขนี้มีค่าสูงขึ้น แปลว่า ยังมีคนที่ติดแต่เครื่องมือตรวจไม่เพียงพออีกเยอะและวันที่ภาครัฐปลดล็อคให้การตรวจเข้าถึงทุกคนได้ แปลว่าตัวเลขคนติดเชื้อจะทวีคูณขึ้นมาอย่างทันที  ยกตัวอย่างเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าตอนนี้มี ตรวจ 100 คน เจอคนติดจะ 50 คนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นจุดชี้ชัดว่าตัวเลขจริงนั้นมีคนติดเยอะกว่านี้แน่นอน บริษัทประกันจึงไม่ได้ดูที่จำนวนคนติดเพียงอย่างเดียว แต่อาศัยตัวแปรพวกนี้มาประเมินสถานการณ์ในอนาคตไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ต้องรอสร้างภูมิหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว ภูมิจะมีมากน้อยแค่ไหน ใช้เวลารอยาวนานเท่าไร ปัจจัยเหล่านี้ต้องนำมาคำนวณด้วย พฤติกรรมของคนนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น กับเรื่องของไวรัสเอง สมมติปีหน้าไวรัสแพร่เร็วขึ้นไปอีก แต่อันตรายน้อยลง อาจจะอันตรายแค่พอๆ กับไข้หวัดใหญ่ ถึงเวลานั้น คนก็จะไม่ค่อยระวังตัวกัน แต่เคลมนั้นก็คงพุ่งสูงขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะ เจอจ่ายจบ 

จำนวนเตียง เครื่องมือทางการแพทย์ กับบุคลากรทางการแพทย์ คือถ้ามันเลยจุดที่จำนวนเตียงกับบุคลากรทางการแพทย์รับไม่ไหวแล้ว จำนวนคนติดเชื้อ จะวิ่งพุ่งกระฉูดหลายเท่าตัวจากจุดที่มีเตียง เครื่องมือทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอ

ปัจจัยในการบริหารความเสี่ยง ไม่ควรเอาสถิติมาใช้ในความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ควรใช้วิธีแบบจำลองแบบ stop loss ตอนวางแผนการขาย แต่ไม่ได้หมายถึงยกเลิก แต่หมายถึงต้องหยุดขายหรือเพิ่มเบี้ยเมื่อไร บริษัทประกันก็เหมือนกับที่สถาบันการเงินต้องมีการประเมิน ทดสอบภาวะวิกฤต Stress Test เพื่อ Stop loss คือการหยุดเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็นหรือนำไปสู่การขาดทุนมากยิ่งขึ้น

มีเทคนิคคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ต้องออกแบบจำลองการสูญเสีย เช่น ต้องใส่ตัวแปรเข้าไป เพื่อจำลองดูว่าประเมินแล้วสูญเสียเท่าไร ประเมินข้างหน้า เบี้ยรับมาเท่าไร การเคลมจ่ายเงินสด เคลมยื่นเข้ามาแล้วแต่ยังไม่ได้ตรวจว่าเบิกได้จริงไหม หรือมีการเคลมแบบไม่ยื่นเรื่องเข้ามา แต่เห็นแล้วละว่าติดเชื้อพุ่งขึ้นเท่าไร เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาพยากรณ์ (Predictive Analysis) ต้องประเมินก่อนหยุดขายหรือชะลอการขาย 

Thai COVID-19
BANGKOK, THAILAND – May 7, 2020. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

ธุรกิจประกันคือธุรกิจที่ขายความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น อาจจะเป็นเรื่องการสื่อสารที่ไม่ลงตัว ในจุดหนึ่ง การทำประกันโควิดในมุมหนึ่งมีความเสี่ยงอยู่เยอะอยู่แล้ว บางบริษัทมองว่าเป็นการทำ CSR ช่วยสังคมจัดการความเสี่ยง กลัวผู้คนเข้าถึงประกันไม่ไหว จึงมีประกันให้ซื้อได้ คือมีเจตนารมที่ดี แต่สำหรับในต่างประเทศ เขาไม่ขายประกันโควิดกัน จะมีขายก็แค่ตอนเฉพาะช่วงแรกๆ ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศยกระดับให้มันเป็นโรคระบาดเมื่อกลางปีที่แล้ว หลังจากนั้น บริษัทประกันทั่วโลกจะไม่กล้าขายกัน เพราะมองว่าเสี่ยงเกินไป ไม่สามารถเอาสถิติมาคาดการณ์อนาคตได้ เนื่องจากเป็นภาวะโรคระบาดทั่วโลกและตัวแปรมันมีมากมายเกินกว่าที่จะพยากรณ์ได้แล้ว

การคาดการณ์โรคระบาดต้องออกแบบมากกว่าประกันทั่วไป เรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คาดการณ์ได้ แต่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เวลาเราใส่สูตรคำนวณความเสี่ยงแล้ว ระดับไหนไม่ให้ความเสี่ยงแล้ว มันจะมีแบบจำลองที่ต้องจำลองว่าจะขายไว้เท่าไร เกินต้นทุน หรือเอาต้นทุนแบบนี้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถปิดจุดบอดได้ จุดบอดมันมีอยู่เสมอในแบบประกัน ซึ่งการออกแบบประกันภัยสำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น คือการปิดจุดบอด ถ้าเปรียบนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นก็เหมือนกับต้นหนเรือ ที่คอยบอกว่าทางข้างหน้าจะมีโอกาสเจอพายุ กระแสน้ำ หรือหินโสโครกอย่างไร เพื่อให้กัปตันเรือได้ตัดสินใจจากการวิเคราะห์พยากรณ์ถึงเหตุการณ์ข้างหน้าด้วยข้อมูลที่เหมาะสม 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา