ถ้าพูดถึง Fast-Food จากสหรัฐอเมริกา คนไทยอาจนึกถึง McDonald’s หรือ KFC แต่รู้หรือไม่ว่า A&W คือร้านที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อเทียบกับ Fast-Food จากสหรัฐฯ ด้วยกัน ดังนั้นลองมาทำความรู้จักร้านนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
เริ่มด้วย Root Beer และชื่อร้านจากนามสกุล
Roy Allen คืออีกคนที่คิดค้นสูตรเครื่องดื่ม Root Beer ขึ้นมา ผ่านการใช้สมุนไพร และเบอร์รี่มากมาย โดยเมื่อปี 1919 (พ.ศ.2462) เขาได้นำเครื่องดื่มนั้นไปเสิร์ฟภายในงานพาเหรดทหารที่กลับมาจากศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 และ Root Beer ตัวนั้นก็กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก จน Roy Allen เริ่มอยากต่อยอดสิ่งนี้
ไม่นานนัก Roy Allen ก็ไปเจอคู่คิดทางธุรกิจอย่าง Frank Wright เพื่อเปิดร้านอาหารที่แคลิฟอร์เนีย พร้อมกับตั้งชื่อว่า A&W Root Beer ผ่านการนำชื่อสกุลของทั้งคู่มาผสานกันเมื่อปี 1925 (พ.ศ.2468) แถมยังมีแผนขายแฟรนไชส์ตัวร้านให้กับผู้สนใจด้วยเหมือนกัน
ต่อมาตัวร้านก็ได้รับความสนใจจนเริ่มมีสาขาในแคลิฟอร์เนียมากขึ้น และปี 1927 (พ.ศ.2470) การข้ามไปอีกฝั่งของสหรัฐอเมริกาก็เกิดขึ้น เพราะ J. Willard Marriott และภรรยาของเขาเห็นโอกาสที่จะนำ A&W Root Beer ไปเปิดที่ Washington D.C. แถมยังปรับปรุงตัวร้านให้จำหน่ายเมนูอาหารคาวปรุงสุกอีกด้วย
เติบโตไปคู่กับกลุ่ม Marriott จนโด่งดัง
อย่างไรก็ตามทางกลุ่ม Marriott ก็ได้เปลี่ยนชื่อร้านจาก A&W Root Beer เป็น Hot Shoppes เพื่อให้เข้ากับเมนูอาหารในร้าน และเมื่อผสาน Root Beer กับเมนูอาหารใหม่ๆ ก็ทำให้ตัวร้าน Hot Shoppes นั้นขยายสาขาไปจำนวนมาก จนกระทั่งปี 1957 (พ.ศ.2500) Marriott ก็กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม และกลายเป็นผู้นำในธุรกิจนี้
ขณะเดียวกันทาง A&W Root Beer ก็เติบโตตามการขยายแฟรนไชส์ของกลุ่ม Marriott ด้วย นอกจากนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวร้าน A&W Root Beer ก็เปิดใหม่มากมาย เพราะเหล่าทหารผ่านศึกนั้นนำ GI Bill หรือสิทธิประโยชน์ของทหารผ่านศึกมาแลกเปลี่ยนเพื่อนำเงินมาทำธุรกิจร้าน A&W Root Beer
หลังจากทยอยขยายสาขาไปทั่วประเทศ A&W Root Beer ก็มีส่วนสร้างวัฒนธรรม Drive-In หรือการขับรถมาสั่งอาหารโดยไม่ต้องลงจากรถในช่วงปี 1950-1970 (พ.ศ.2493-2513) แถมยังสร้างเมนูใหม่อย่าง Bacon Cheeseburger ขึ้นมาเช่นเดียวกัน
ฝ่าวิกฤติมากมายจนอยู่ได้ยั่งยืน
เมื่อกาลเวลาผ่านไป A&W Root Beer ก็เปลี่ยนชื่อเป็น A&W Restaurant และจำหน่ายอาหารคาวหวาน โดยมี Root Beer สูตรที่หาดื่มที่ไหนไม่ได้เป็นตัวนำ รวมถึงทางร้านก็มีการขยายสาขาไปทั่วโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียที่มีสาขาทั้งมาเลเซีย, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ถือเป็นร้านอาหารจากสหรัฐอเมริกาที่เปิดสาขานอกประเทศเป็นรายแรกๆ
ในทางกลับกันมันไม่ได้มีแค่เรื่องดีๆ เพราะ A&W Restaurant ต้องฝ่าวิกฤติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ, สงครามต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนมือของเจ้าของ ที่ก่อนหน้านี้มีทั้ง United Fruit Company และ Yum! Brands เป็นเจ้าของ ก่อนล่าสุดเหล่าแฟรนไชส์ของร้านก็ช่วยกันซื้อกิจการคืนกลับมาเมื่อปี 2011 (พ.ศ.2554)
ปัจจุบัน A&W มีสาขาทั่วโลกมากกว่า 1,000 แห่ง แบ่งเป็น 600 แห่งในสหรัฐอเมริกา ส่วนในไทยนั้นตัว A&W เข้ามาทำตลาดกว่า 15 ปีแล้ว โดยล่าสุดบมจ.เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้าน A&W ทั้ง 27 สาขาที่เปิดให้บริการในไทย และยังจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง
สรุป
A&W เป็นร้านอาหารสหรัฐอเมริกาที่มีประวัติยาวนานกว่า Fast-Food บางแบรนด์เสียอีก แต่อาจเพราะการเดินเกมการตลาดไม่ดีนัก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่า แต่เรียกว่าการยืนหยัดมาจนถึง 100 ปีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นต้องเอาใจช่วยต่อไปว่าตัวร้าน A&W นั้นจะเดินหน้าไปอีกนานแค่ไหน
อ้างอิง // A&W
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา