ก่อนหน้าโควิด ออฟฟิศยุคใหม่พยายามดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาในองค์กรด้วยหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการให้สิทธิพิเศษ (perk) ในสถานที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟฟรี อาหารฟรี ขนมฟรี รวมถึงพื้นที่ทำงานแบบ open office ที่ดูทันสมัย แต่ในโลกยุคหลังโควิด ดูเหมือนว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะพนักงานต้องทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก
หรือว่า สิทธิพิเศษของออฟฟิศยุคใหม่จะไร้มนต์ขลัง?
Digiday เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของคน(เคย)ทำงานในวงการเอเจนซี่โฆษณาในสหรัฐอเมริกามานานกว่า 1 ทศวรรษ แต่ขอไม่เปิดเผยตัวตน (ตอนนี้คนให้สัมภาษณ์ไม่ได้ทำงานกับบริษัทสายเอเจนซี่โฆษณาแล้ว เปลี่ยนไปทำงานกับสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่า มันเท่น้อยลง แต่บริษัทใหม่ให้เขาทำงานจากบ้านได้ และที่สำคัญเห็นเส้นทางของอาชีพที่ชัดเจนกว่าเดิมมาก)
เขาบอกว่า วิกฤตโควิดทำให้คนในวงการที่ทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นวงการโฆษณา คนทำคอนเทนต์ และเทคโนโลยี ต่างมีวิธีคิดต่อออฟฟิศที่เปลี่ยนแปลงไป
ในยุคก่อนหน้านี้ สิทธิพิเศษในที่ทำงานทั้งอาหารฟรี กาแฟฟรี เบียร์ฟรี โต๊ะเล่นปิงปอง พื้นที่อิสระในการทำงานแบบ Co-Working Space ฯลฯ สิ่งเหล่าเป็นตัวดึงดูดคนเก่งๆ และทำให้เกิดวัฒนธรรมเจ๋งๆ (cool culture) ในองค์กร ซึ่งแน่นอนว่า ภาพลักษณ์ขององค์กรก็ดูเท่ตามไปด้วย แต่เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนต้องทำงานจากที่บ้านเพื่อความปลอดภัยตามมาตรการควบคุมทางสังคม ส่วนสิทธิพิเศษในองค์กรก็หยุดชะงัก หลายคนจึงมีเวลากลับมานั่งคิดและทบทวนมากขึ้นว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสิ่งสำคัญในอาชีพของตนเอง
Josh Wand ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ForceBrands บริษัทจัดหางานในนิวยอร์ก บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาได้ยินเสมอมาในยุคโควิด คือผู้คนไม่สนใจสิทธิพิเศษในออฟฟิศอีกแล้ว เพราะตอนนี้สิ่งที่คนทำงานต้องการ คือคุณค่าของการทำงาน มันไม่ใช่การแจกอาหารกลางวันให้กับพนักงานหรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติมแต่อย่างใด มันคือโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงาน การมีตัวตน และความโปร่งใสในที่ทำงานต่างหาก
Opinion
สำหรับบริษัทยุคใหม่ สิ่งที่ต้องขบคิดคือ อะไรเป็นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของสิทธิพิเศษในออฟฟิศ หรือพูดอีกแบบคือ อะไรเป็นวิธีคิดเบื้องหลังของขนมฟรีและอาหารกลางวันฟรีที่ออฟฟิศให้กับพนักงาน
ถ้าคำตอบของมันคือ “ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน”
ดังนั้นแล้ว ในยุคที่การทำงานเกิดขึ้นได้จากในบ้านของพนักงาน บางทีการคิดใหม่-ทำใหม่กับ “วิธีการ” ให้สวัสดิการกับพนักงานก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดี เช่น สวัสดิการในการซื้อโต๊ะ-เก้าอี้ทำงานดีๆ หรือสวัสดิการเพื่อปรับปรุงมุมทำงานในบ้านของพนักงานให้น่าทำงานมากขึ้น เป็นต้น
ส่วนประเด็นเรื่องการดึงดูดคนเก่งๆ (Talent Attractiveness) มีงานวิจัยที่บอกว่า การจะดึงดูดคนเก่งๆ ไว้ในองค์กร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวองค์กรอย่างเดียวเสมอไป เพราะส่วนใหญ่พนักงานเก่งๆ จะอยู่กับองค์กรหรือลาจากไป มักขึ้นอยู่กับหัวหน้างาน โดยประเด็นนี้ Brand Inside TALK เคยชวนคุยไว้ในตอนที่ชื่อว่า ระวังหมดไฟ เพราะได้หัวหน้าไม่ดี
ที่มา – Digiday
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา