ภาพรวมตลาดรถยนต์เจอ COVID-19 เล่นงานอย่างหนัก เพราะยอดขายลดลงเหลือ 7.7 แสนคัน น้อยกว่าปี 2562 ถึง 23.6% แต่ในความย่ำแย่นั่นก็มีอะไรที่น่าดีใจ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์หันมาขายรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
เปิดต้นปีด้วยการปิดตัวของ Chevrolet
ภาพรวมตลาดรถยนต์ปีนี้เริ่มด้วยความหวังของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่คาดการณ์ว่าตลาดจะฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ เพราะผู้ซื้อได้หลุดพ้นจากพันธะนโยบายรถคันแรกแล้ว แต่ Chevrolet กลับถอดใจจากตลาดนี้ ผ่านการขายโรงงานให้กับ Great Wall Motors (GMW) ผู้ผลิตจากจีน พร้อมเทกระจาดรถยนต์ในสต๊อกด้วยการลดราคาครั้งใหญ่
ถือเป็นการปิดฉากแบรนด์ Chevrolet อย่างเป็นทางการ เพราะก่อนหน้านี้ทางแบรนด์ได้ลดการทำตลาดเหลือแค่กลุ่มรถกระบะ และ PPV จากเดิมที่มีกลุ่มรถเก๋ง เหมือนกับ Ford ที่เดินกลยุทธ์นี้เช่นกัน แต่ทางแบรนด์ยังกัดฟันทำตลาดในไทยต่อไป
สำหรับกรณีของ Chevrolet แสดงให้เห็นว่า ตลาดรถยนต์ไทยจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะอยู่แบรนด์รถยนต์อันดับต้นๆ ของโลกยังประกาศเลิกทำตลาดโดยที่ดีลเลอร์ และผู้ซื้อไม่รู้สัญญาณใดๆ ดังนั้นคงต้องจับตาว่า ค่ายรถยนต์แบรนด์รองจะมีกลยุทธ์เช่นนี้ด้วยหรือไม่
COVID-19 ระบาดทำตลาดรถยนต์ป่วน
หลังจากนั้นไม่นานการระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างผลกระทบตั้งแต่งาน Motor Show ที่ต้องประกาศเลื่อนออกไปจากปกติต้องจัดต้นปี ก็กลายเป็นจัดเดือนก.ค. 2563 รวมถึงการผลิตรถยนต์ และการขายรถยนต์หน้าโชว์รูมแทบจะทำไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็น Toyota, Honda, Nissan หรือ Isuzu ก็ต่างปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 บางรายกินเวลาเกือบ 1 เดือน และกว่าทุกเจ้าจะกลับมาผลิตก็ต้องรอถึงเดือนพ.ค. ส่วนการขายรถยนต์ผ่านหน้าโชว์รูม รวมถึงการซ่อมบำรุงก็มีการพยายามทำมาโดยตลอด บ้างก็ทำผ่านออนไลน์ หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปหา
ที่มันป่วน และทำให้เป้ายอดขายรถยนต์ของแต่ละค่ายมีปัญหาก็คือ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่หยุดชะงักไปด้วย ทำให้ถึงจะเปิดตัวรุ่นใหม่ หรือพยายามทำโปรโมชั่น ยอดขายก็เดินไม่ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ปี 2563 จะปิดที่ 7.7 แสนคัน น้อยกว่าปี 2562 ที่มียอดขายราว 1 ล้านคันถึง 23.6%
กระแส SUV ที่ยังแรง และเป็นที่ต้องการ
เมื่อภาพรวมตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัวกลับมาจากวิกฤต COVID-19 (แม้จะไม่ได้ฟื้นเต็มที่) ตลาดรถยนต์เริ่มมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในกลุ่มรถยนต์ SUV ทั้งฝั่งรถตลาด และรถหรู โดยกลุ่มรถตลาดมีทั้ง Toyota ที่เปิดตัว Corolla Cross ตัว Subcompact SUV ที่เป็นทางเลือกให้กับคนที่ไม่อยากวัยรุ่นแบบ C-HR
รวมถึง Nissan Kicks รถยนต์ Subcompact SUV ที่มากับเครื่องยนต์ e-POWER, Mazda CX-3 กับ CX-30 และ MG ZS (Minorchange) ทั้งยังมีฝั่ง Mini MPV ที่ทำการยกสูงเพื่อมาแข่งในตลาดนี้อีกเช่น Mitsubishi Xpander Cross และ Suzuki XL7 เรียกว่าแข่งกันจูงใจผู้บริโภคกันดุเดือด
ฝั่งรถหรูก็ไม่แพ้กัน เพราะทุกเจ้าพยายามนำรถยนต์ SUV เข้ามาทำตลาดทุกขนาด ทั้งยังกดราคาให้เอื้อมถึงง่ายกว่าเดิม เช่น Mercedes-Benz GLA ที่เพิ่มงบเล็กน้อยจาก Compact SUV ทั้ง Honda CR-V, Mazda CX-5 หรือ Subaru Forester ก็ครอบครองได้แล้ว จึงอยู่ที่ว่าผู้ซื้อจะยอมหรูแต่ได้ขนาดที่เล็กลงหรือไม่
แบรนด์เจ้าตลาดไม่กั๊ก-รถยนต์ไฟฟ้ามาเต็ม
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือแบรนด์รถยนต์เจ้าตลาดที่เริ่มส่งสัญญาณว่าหลังจากนี้จะเอาจริงผ่านการไม่กั๊ก Option เหมือนในอดีต โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ Isuzu ที่จัดเต็มสมรรถนะ และ Option ความปลอดภัยต่างๆ มาเต็มที่ทั้งฝั่งกระบะ D-MAX และตัว MU-X ดังนั้นต้องดูกันว่าเมื่อเจ้าตลาดจัดเต็มอย่างนี้แล้วคู่แข่งจะเดินเกมอย่างไร
สุดท้ายของตลาดรถยนต์ปี 2563 คือกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนมากขึ้น ผ่านการหันมาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของหลากหลายแบรนด์ เช่น MG ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่น MG EP ในราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท หรือจะเป็นการแข่งขันในกลุ่ม Plug-in Hybrid ที่ MG และ Mitsubishi เริ่มเอาเข้ามาขายในประเทศไทย
ส่วนในกลุ่มรถหรู กระแสรถยนต์ไฟฟ้ามีมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะทุกเจ้าพยายามทำตลาด Plug-in Hybrid ในรถยนต์ทุกขนาดเท่าที่จะทำได้ ที่น่าเสียดายคงเป็นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่ Mercedes-Benz เดิมทีจะมาผลิตในประเทศไทย แต่สุดท้ายแล้วเจรจากันไม่ลงตัวจนทุกอย่างล้มไม่เป็นท่า
สรุป
ตลาดรถยนต์ปี 2563 คือหายนะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทุกอย่างแทบจะถูกแช่แข็งเอาไว้ และถึงจะปลดล็อคออกมาได้บ้าง แต่การฟื้นตัวก็กลับมาได้ไม่เต็มที่ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าก็ต้องรอดูมาตรการต่างๆ หลังจากนี้ จึงเชื่อว่าทุกค่ายผู้ผลิตรถยนต์น่าจะมองข้ามปี 2563 ไปนานแล้ว และหันมาโฟกัสปี 2564 ดีกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา