CX-30 กับก้าวใหม่ของ Mazda ประเทศไทย ที่ชนคู่แข่งด้วยขนาดที่พอๆ กัน

Mazda เป็นค่ายรถยนต์ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์มาค่อนข้างสวย และมีระดับ แต่เมื่อไปเทียบกับคู่แข่งก็มักจะถูกติงเรื่องห้องโดยสารที่คนขับค่อนข้างสบาย ส่วนคนนั่งก็ทนๆ เอาหน่อย ซึ่งจากนี้มันอาจไม่เป็นอย่างนั้นแล้วก็ได้

CX-30
CX-30

CX-30 ที่พร้อมชนในขนาดที่พอๆ กัน

ปัจจุบันตลาด Subcompact SUV ในประเทศไทยก็มีแบรนด์ญี่ปุ่นแข่งขันอยู่ 3 รายคือ Toyota กับรุ่น C-HR, Honda กับรุ่น CR-V และ Mazda กับรุ่น CX-3 หากว่ากันจริงๆ CX-3 ของ Mazda ก็มีราคาค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่ง แต่ก็แลกมาด้วยความพรีเมียมของวัสดุ รวมถึงความแรงผ่านเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเบนซิน และ 1.5 ลิตรดีเซล

ในทางกลับกันด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กกว่าคู่แข่ง ก็ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจไม่เลือก CX-3 และมองไปที่ HR-V ของ Honda หรือถ้าพวกเขาต้องการเทคโนโลยีล้ำๆ ก็จะเลือกซื้อ C-HR ของ Toyota มากกว่า จากจุดนี้เอง Mazda จึงออกรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาเพื่อปิดช่องว่างนี้ และมันมีชื่อว่า CX-30

CX-30 มาพร้อมกับความแตกต่างที่ชัดเจนหากเทียบกับรุ่น CX-3 เพราะมันมีขนาดใหญ่กว่า ผ่านการใช้พื้นฐานของรุ่น Mazda 3 (CX-3 ใช้พื้นฐานของ Mazda 2) รวมถึงความแรง และเทคโนโลยี ที่สำคัญหากเอาไปเทียบกับคู่แข่ง ก็จะพบว่าขนาดมันกิน C-HR ของ Toyota และเทคโนโลยีก็ล้ำกว่า HR-V ของ Honda ด้วย

เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ระบบความปลอดภัยมาเต็ม

หากเจาะไปที่รายละเอียด เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเบนซิน ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 15.4 กม./ลิตร หรือเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับที่ใช้ใน Mazda 3 แต่มีการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับการขับขี่บนรถยนต์แบบ SUV

cx-30

ด้านเทคโนโลยีนั้น หากดูกันที่ฝั่งความปลอดภัยในรุ่นสูงสุดก็จัดมาให้เต็ม ตั้งแต่กล้องรอบคัน, ระบบช่วยเบรก, ระบบเตือนจุดอับสายตา, ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง รวมถึงระบบ Adaptive Cruise Control ที่แม้จะไม่ทำงานถึงรถยนต์หยุดนิ่ง แต่ก็ช่วยอำนวยความสะดวกในการขับขี่ไม่น้อย

ส่วนการออกแบบภายในก็เรียบหรูตามสไตล์ Mazda เรียกว่าหรูที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งกลุ่ม Subcompact ด้วยกัน แต่ก็ยังเหมือนเดิมในเรื่องห้องโดยสารที่ค่อนข้างสะดวกกับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารอาจไม่สะดวกเท่าไรนัก เช่นเดียวกับห้องเก็บสำภาระด้านหลังที่ใหญ่กว่า CX-3 อย่างชัดเจน แต่ก็ยังเล็กกว่า HR-V ของ Honda

cx-30

รุ่นความหวังของ Mazda ในตลาด SUV

แสดงให้เห็นว่า Mazda ตั้งเป้ากับ CX-30 ไว้มาก เพราะด้วยรูปทรง และสมรรถนะ เรื่องราคาที่เปิดมาในรุ่นเริ่มต้น 9.89 แสนบาท ไล่ไปที่ 1.099 ล้านบาท และสูงสุดที่ 1.199 ล้านบาท ก็ทำให้มันชนกับคู่แข่งได้สบายๆ ดังนั้นถ้า Mazda ทำตลาดดีๆ เป้าหมายดังกล่าวมันก็คงไม่ยากนัก

เมื่อ Mazda ปรับปรุงรุ่นที่ใช้ทำตลาด Subcompact SUV มาแบบเต็มขั้น แถมช่วงแรกยังทำตลาด CX-3 และ CX-30 ควบคู่กันไป ยิ่งถ้าเอาไปรวมกับ Compact SUV อย่าง CX-5 และ Midsize SUV รุ่น CX-8 ทำให้ Mazda มีการทำตลาด SUV ถึง 4 รุ่นด้วยกัน มากที่สุดในแบรนด์รถญี่ปุ่นด้วยกันในประเทศไทย

สำหรับตลาดรถยนต์เอนกประสงค์แบบ SUV และ PPV จะมีทั้งหมด 1.46 แสนคัน แบ่งเป็น SUV ทั้งหมด 86,000 คัน โดยในปี 2562 ทาง Mazda จำหน่ายไปทั้งหมด 5,736 คัน แต่ในปี 2563 ตลาดนี้น่าจะเพิ่มเป็น 1.5 แสนคัน และ Mazda ตั้งเป้าไว้ 18,000 คัน ทำให้เป็นผู้นำในตลาดเหมือนกับตลาด Subcompact ที่ Mazda 2 ทำไว้ได้

ปัจจัยลบของตลาดยังมี เพราะเศรษฐกิจซบ

อย่างไรก็ตามถึง Mazda จะจูงใจผู้ซื้อด้วยสมรรถนะ และราคา แต่ด้วยภาพรวมตลาดรถยนต์ปี 2563 ยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามามากนัก ทำให้ผ่านมา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) มียอดขายราว 1.4 แสนคัน แบ่งเป็น Mazda 7,000 คัน โดยฝั่งตลาดรถ SUV ยังเติบโตต่อเนื่อง และการที่ Mazda จำหน่ายรถยนต์แบบนี้ถึง 4 รุ่น ก็น่าจะเป็นแผนที่ถูกต้อง

ในทางกลับกันปี 2562 ตลาดรถยนต์อยู่ที่ 1.007 ล้านคัน น้อยกว่าปี 2561 ที่อยู่ 1.041 ล้านคัน โดย Mazda จำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดราว 58,000 คัน ส่วนในปี 2563 ทาง Mazda ตั้งเป้ายอดขายไว้มากกว่า 60,000 คัน จากภาพรวมตลาดที่คาดไว้ที่ 9.2-9.4 แสนคัน

เมื่อเป็นอย่างนี้งานหนักก็คงอยู่ที่คู่แข่งอย่าง Toyota และ Honda ว่าจะเดินหมากในช่วงต่อไปอย่างไร รวมถึง Nissan ที่กำลังจะเปิดตัว SUV ขนาดเล็ก แถมมาพร้อมกับเครื่องยนต์ E-Power ว่าจะประสบความสำเร็จหรือใหม่ เพราะกำแพง CX-30 นั้นหนาเหลือเกิน

สรุป

แม้ Mazda จะบอกว่าจะทำตลาด CX-3 กับ CX-30 ควบคู่กันไปเรื่อยๆ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสุดท้ายมันก็คงเหลือเพียงรุ่นเดียว เพราะทั้งสองรุ่นนี้ค่อนข้างทับกัน ทั้งเรื่องขนาด และราคา ทำให้ใครที่กำลังจะตัดสินใจซื้อ Subcompact SUV ของ Mazda ตอนนี้ก็ต้องเชียร์ที่ไปที่ CX-30 มากกว่า

อ้างอิง // Mazda

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา