วิเคราะห์ 6 ธุรกิจค้าปลีกใหญ่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านขายอุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ ภายใต้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังทำให้เราเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงการปรับตัวของธุรกิจเหล่านี้ในอนาคต
Brand Inside นำรายงานของบริษัทที่ได้แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบทวิเคราะห์หลักทรัพย์จากหลากหลายบริษัทหลักทรัพย์ในไทยที่ได้วิเคราะห์ถึงผลประกอบการของกลุ่มค้าปลีกในไตรมาสที่ 3 ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยถ้าหากเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา GDP ไทยฟื้นตัว 6.5% (ถ้าหากเทียบกับปีที่แล้วยังถดถอย -6.4%) ขณะที่ตัวเลขภาคการบริโภคของเอกชนเริ่มกลับมาบ้างแล้ว
แต่สำหรับกลุ่มค้าปลีกของไทยนั้นอาจแตกต่างกันไปในประเภทของรูปแบบธุรกิจต่างๆ ซึ่งหลายๆ บริษัทนั้นประสบปัญหาที่แตกต่างกันไปในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
โฮมโปร
บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ ได้รายงานถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเองยังอยู่ในระดับที่ต่ำ หนี้ภาคครัวเรือนที่สูง ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันธุรกิจในไทยและมาเลเซียมีผลการดำเนินงานที่ลดลงจากการปิดสาขาในไตรมาส 2 ขณะที่ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาบริษัทถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่น เนื่องจากเป็นฤดูฝน
บริษัทได้ชี้ให้เห็นว่าในไตรมาส 3 สินค้าที่ขายดีคือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่สินค้าเหล่านี้นั้นมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำ ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้เร่งการพัฒนาช่องทางแบบ Omni Channel ด้วย
ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ นั้นได้รายงานว่า ไตรมาส 3 ของโฮมโปรนั้นมีรายได้รวมลดลง 2% จากเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและความกังวลในการจ้างงานในอนาคต ส่งผลทำให้มีการเลื่อนในการซ่อมแซมหรือตกแต่งบ้านออกไป ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง โดย 9 เดือนแรกของปี 2020 นั้นโฮมโปรมีการเติบโตของยอดขายต่อสาขาลดลง -8.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โกลบอล
ทางด้านของผู้จำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างอย่าง บมจ. สยามโกลบอลเฮ้าส์ นั้นมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 6,439 ล้านบาท ลดลง 1.15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยบริษัทชี้แจงถึงสาเหตุสำคัญว่ามาจากสภาวะเศรษฐกิจหดตัวซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
ขณะที่บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองว่าการเติบโตของยอดขายต่อสาขาลดลงนั้นมาจากสาเหตุสำคัญคือสภาพเศรษฐกิจตามต่างจังหวัดที่อ่อนแออย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหลังจากการเปิดเมืองหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นกลับไม่มียอดขายที่เกิดจากความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงปิดเมือง ซึ่งสาขาของโกลบอลนั้นอยู่ในต่างจังหวัดเป็นสัดส่วนมากถึง 67%
นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้ชี้ให้เห็นว่ากำไรของบริษัทที่ลดลงมากกว่าคาดการณ์ เนื่องจากมีการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย นอกจากนี้ในบทวิเคราะห์ยังมองว่าในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาการเติบโตของยอดขายต่อสาขาอาจติดลบมากกว่าในช่วงไตรมาส 3 ด้วยซ้ำจากปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่อ่อนแอ รวมไปถึงพายุฝนซึ่งกระทบโดยตรงต่อการก่อสร้าง
เซ็นทรัลรีเทล
ค้าปลีกในเครือเซ็นทรัลอย่าง CRC ที่มีกิจการหลายๆ อย่าง เช่น โรบินสัน ท็อปส์ จนถึงแฟมิลี่มาร์ท ไตรมาส 3 นี้กลับมามีกำไรอีกครั้ง หลังจากขาดทุนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยรายได้รวมนั้นลดลง 11.1% ในไตรมาสนี้นั้นสินค้าประเภทฮาร์ดไลน์ เช่น สินค้าในร้าน Power Buy ถดถอยเล็กน้อยที่ -2.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าประเภทนี้ได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้าน ขณะที่สินค้ากลุ่มอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก อย่างไรก็ดีธุรกิจสินค้าประเภทฮาร์ดไลน์ในเวียดนามบริษัทรายงานว่ายอดขายลดลงจากสภาพการแข่งขันที่สูงด้วย
ขณะเดียวกัน CRC ได้กล่าวถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ในบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัดยังได้รายงานถึงการรีแบรนด์ห้างในหลายๆ พื้นที่จากโรบินสันให้เป็นเซ็นทรัลที่เมกา บางนา รวมไปถึงที่จังหวัดอุดรธานี ในบทวิเคราะห์ได้กล่าวว่าทาง CRC มองว่าหลังการรีแบรนด์ตัวห้างแล้วทำให้ยอดขายเติบโตมากขึ้น และจะมีแผนในการรีแบรนด์ห้างในอีก 2 ปีข้างหน้าใน
4-5 พื้นที่
ซีพี ออลล์
มาต่อกันที่ CPALL ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกอย่าง 7-Eleven และธุรกิจค้าส่งอย่าง Makro ในไตรมาส 3 นั้นในบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่ายอดการเติบโตของสาขาเดิมถดถอยถึง -13% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจากสาเหตุคือ การบริโภคเอกชนที่อ่อนแอ และเรื่องที่ใหญ่สุดคือ นักท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเข้ามาในไทยได้ ทำให้การฟื้นตัวของสาขาในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นถือว่าอ่อนแอ แม้ว่าในไตรมาสนี้จะมีการอัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายโดยซัพพลายเออร์แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ในผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานั้นทาง CPALL เองก็ได้กล่าวถึงการเร่งนำกลยุทธ์ O2O มาใช้เพื่อที่จะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากขึ้นด้วย
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (เจ้าของ Big C)
แม้ว่าธุรกิจของ บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC จะมีหลากหลายหน่วยธุรกิจ แต่เราจะมองไปที่ธุรกิจสำคัญคือธุรกิจค้าปลีกที่มี Big C เป็นหัวเรือหลักและทำรายได้ส่วนใหญ่ให้กับ BJC ในรายงานที่แจ้งให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นบริษัทได้ชี้แจงว่าอัตราการเติบโตของสาขาเดิมยังใกล้เคียงกับในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากค่าเช่านั้นยังไม่กลับมาเท่ากับระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) นั้นมองว่าในไตรมาส 3 ยอดการเติบโตของสาขาเดิมนั้นยังหดตัว แต่ค่าเช่าที่ฟื้นตัวถือเป็นปัจจัยนำในไตรมาสนี้
ขณะที่มองไปข้างหน้าในไตรมาส 4 นั้นบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่าสาขาของ Big C ในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ กว่า 19 สาขานั้น คาดว่ายอดการเติบโตของสาขาเดิมอาจถดถอยได้มากถึง -40% ซึ่งสาขาของ Big C ในจังหวัดเหล่านี้คิดเป็นรายได้ 15% ของ BigC เลยทีเดียว ซึ่งต้องรอภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวกลับมา
เซ็นทรัลพัฒนา
บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ได้แจ้งผลประกอบการในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาโดยในรายงานได้กล่าวถึงการกลับมาเปิดบริการศูนย์การค้าทุกแห่งแล้ว หลังจากปิดศูนย์การค้าซึ่งแต่ละแห่งใช้เวลาต่างกัน โดยอยู่ที่ราวๆ 45-56 วัน และมีผู้กลับเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง อัตราเช่าเฉลี่ยในสิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 92%
รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ยังได้รายงานถึง “บริษัทยังคงดําเนินมาตรการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมและเป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ในระดับปกติ และเพื่อรักษาความสามารถในการทํากําไรและเพื่อรองรับสภาวะการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ทำให้ CPN มีการชะลอแผนการลงทุนในปี 2563 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อ เนื่องในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน”
ในบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้มองว่าแม้รายได้ค่าเช่าจะลดลงถึง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2019 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทต้องให้ส่วนลดค่าเช่าประมาณ 20% แต่รายได้ค่าเช่านั้นฟื้นตัวถึง 73% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ลูกค้าเข้าห้างสรรพสินค้าของบริษัทเฉลี่ยมากกว่า 85% บทวิเคราะห์ยังคาดว่า CPN อาจสามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้อีกครั้งในช่วงกลางปีหน้า
สรุปสำหรับธุรกิจค้าปลีกของไทยในไตรมาส 3 จาก 6 ธุรกิจหลัก
- ภาวะการบริโภคของไทยยังอ่อนแอมาก ทุกเจ้านั้นยอดขายรวมยังกลับมาไม่ได้เท่าเดิม
- ค้าปลีกของไทยไม่ต่ำกว่า 3 เจ้าที่เราได้ยกตัวอย่างมา ได้ออกโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในไตรมาสที่ผ่านมา
- ธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะได้รับผลต่อเนื่องตราบใดไทยยังไม่เปิดประเทศ
- ค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับค่าเช่านั้นต้องใช้เวลาอีกสักพักที่จะสามารถทยอยขึ้นค่าเช่าได้อีกครั้ง
- จากการทำงานที่บ้านยังทำให้สินค้าบางชนิดขายดี เช่น อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า
- ค้าปลีกหลายๆ แห่งยังมองถึงความไม่แน่นอนของ COVID-19 และวัคซีนที่จะมาถึง
- ไม้ตายใหม่ของค้าปลีกไทยคือ Omni Channel และ O2O
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา