ทางรอดแบรนด์หรูในยุคโควิดคือ “จีน” เพราะตลาดฟื้นตัวไว
ในงานเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ปีนี้ เหล่าบรรดาแบรนด์หรูระดับโลกต่างเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะแบรนด์ที่ไม่เคยมีท่าทีว่าจะเข้าร่วมอย่าง Balenciaga, Prada, Chloe หรือแม้กระทั่งแบรนด์เครื่องเพชรเครื่องประดับหรูหรา
Andy Halliwell นักวิเคราะห์อาวุโสสายการตลาดและที่ปรึกษาด้านดิจิทัลของ Publicis Sapient อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นเพราะแบรนด์หรูเหล่านี้ไม่สามารถทำตลาดในฝั่งตะวันตกได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังไม่ดี สุดท้ายจึงต้องลงมาเล่นในตลาดจีน เพราะจีนฟื้นตัวจากโควิดได้ไว
ก่อนหน้านี้ ปัญหาใหญ่ที่หนักใจเหล่าบรรดาแบรนด์หรูที่ทำให้ไม่อยากเข้าร่วมงานเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 เป็นเพราะ “ไม่อยากลดราคา” เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ในปีนี้แบรนด์หรูหลายแบรนด์ต่างได้เห็นแล้วว่า สินค้าหรูหราเมื่อเข้าร่วมเทศกาลช้อปปิ้งสุดยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องลดราคาสินค้าแบบบ้าคลั่ง ก็ขายได้
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Dior ที่ในปีนี้ขายสินค้าได้มหาศาลโดยไม่ได้ลดราคาอะไรมากมาย มีแค่จัดโปรโมชั่นเล็กน้อยเท่านั้น นี่คือหมุดหมายใหม่ของแบรนด์หรูที่หลังจากนี้ พวกเขาจะรู้แล้วว่า การร่วมงานลักษณะนี้ไม่ต้องลดราคามากก็ยังขายได้ แต่สิ่งที่ได้มากกว่ายอดขายคือการรับรู้ของผู้บริโภคต่อแบรนด์ที่กว้างขวางมากขึ้น เพราะใครจะเชื่อว่าแบรนด์เครื่องประดับสุดหรูอย่าง Cartier จากฝรั่งเศสจะขาย “สร้อยคอ” มูลค่ากว่า 28.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 856 ล้านบาท) โดยมีผู้ชมกว่า 800,000 คนร่วมชมสดๆ ผ่านทางไลฟ์สตรีมมิ่ง
- แบรนด์หรูฟื้นเร็ว! Prada เผยยอดขายในจีนโตกว่าปีก่อน COVID-19 ทุเลาทำคนมีเงินออกมาจับจ่าย
- พฤติกรรมผู้บริโภคจีนยุคหลังโควิด ยังชอบของหรู แต่แบรนด์ต้องใช้ดิจิทัลมาดึงดูดมากขึ้น
- เตรียมโบกมือลาฮ่องกง แบรนด์เนมหรูหันไปตีตลาดคนจีนแผ่นดินใหญ่ เน้นไลฟ์สดขายออนไลน์แทน
ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่ Shirley Li ศาตราจารย์จากคณะธุรกิจของมหาวิทยาลัย Hong Kong Baptist วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะความรู้สึกกลัวตาย (Fear of death) ซึ่งในสถานการณ์ครั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตโควิด
โดยศาสตราจารย์ท่านนี้ ระบุว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกัน เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความตาย มนุษย์เลือกที่จะทำตามใจหรือสัญชาตญาณ และมักเลือกที่จะพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่ชอบหรือรัก อย่างในกรณีนี้ ก็คือการเลิกกังวลถึงสถานการณ์ที่น่ากลัว(โรคระบาด) แล้วหันกลับมา “ใช้ชีวิตเพื่อปัจจุบัน” ซึ่งหมายถึงการซื้อของที่ชอบ สินค้าที่อยากได้ การช้อปปิ้งของแพงๆ หรือช้อปปิ้งจำนวนมาก ก็เพื่อทำให้ผ่อนคลายความรู้สึกด้านลบนั่นเอง
ที่มา – BBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา