เปิดกลยุทธ์การแข่งขัน Nikon ไทย เน้นตลาด Full Frame เพราะกล้องคือของเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

การพัฒนาของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ที่ทำให้การถ่ายรูปกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ต้องพกกล้อง ก็ถ่ายรูปสวยๆ ได้ แน่นอนว่าส่งผลต่อธุรกิจกล้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ก่อนหน้านี้ Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงภาพรวมของธุรกิจกล้องในประเทศไทย โดยพบว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจกล้องในประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสียอีก

นับตั้งแต่ปี 2018 ที่มีมูลค่า 7,650 ล้านบาท ปี 2019 5,630 ล้านบาท (ลดลง 26%) และในปี 2020 คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกล้องทั้งปีจะอยู่ที่ 3,220 ล้านบาท (ลดลง 43%) โดยในปี 2021 คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกล้องจะลดลงอีก 25% ของปีนี้

โดยส่วนแบ่งการตลาดของกล้องในปัจจุบัน แบ่งเป็น กล้อง DSLR 26% และ Mirrorless 74% นอกจากนี้ยังแบ่งได้เป็นกล้อง Full Frame ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 43.3%

คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วกล้องที่มีราคาไม่แพง ในกลุ่ม Entry Level ราคาเริ่มต้น 20,000-30,000 บาท หายไปไหน ทั้งที่ก่อนหน้านี้กล้องประเภทนี้เคยได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนชอบถ่ายภาพมือสมัครเล่น

กล้อง Compact ของ Nikon

กล้อง Compact ราคาไม่แพง หายไปไหน?

วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กล้องประเภทนี้ถูกทดแทนด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถถ่ายรูปได้เช่นเดียวกัน ทำให้มูลค่าตลาดของกล้องประเภทนี้ลดลง จาก 600 ล้านบาท เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เหลืออยู่เพียง 30-40% เท่านั้น เพราะถูกทดแทนด้วยโทรศัพท์มือถือถ่ายรูปสวยไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ากล้อง Compact ราคาไม่แพงจะหายไปจากตลาดเลย แม้จะมีมูลค่าเหลืออยู่น้อย แต่กล้องชนิดนี้ จะเน้นไปที่การใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กล้องที่สามารถซูมได้ไกลๆ หรือมีความสามารถในการกันน้ำกันฝุ่นดีๆ เพื่อวัตถุประสงค์การใช้งานที่ต่างออกไป

แม้ว่าโดยภาพรวมมูลค่าตลาดกล้องในประเทศไทย จะซบเซามาตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 จะระบาด แต่อย่างไรก็ตามกล้อง Full Frame ที่มีราคาแพงกลับมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น จากเดิมประมาณ 20% เพิ่มขึ้นเป็น 43.3% ในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาของกล้อง Full Frame ที่ปรับตัวลดลง ทั้งการปรับราคาของสินค้ารุ่นเก่า และรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ทำให้กล้อง Full Frame กลายเป็นสินค้าที่จับต้องได้มากขึ้น

ซึ่ง Nikon ในประเทศไทยเอง สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดกล้อง Full Frame เป็นอันดับ 1 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาทั้งในด้านจำนวนและมูลค่า โดยในปี 2563 นี้ครองส่วนแบ่งมากถึง 42.4%

นอกจากนี้ Nikon ยังได้เปิดตัวกล้อง Full Frame รุ่นใหม่ ถึง 2 รุ่น คือ NIKON Z6 II และ NIKON Z7 II ที่มีความสามารถในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มักถ่ายภาพนิ่ง ในสัดส่วนใกล้เคียงกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว

Nikon เท่ากับการถ่ายภาพนิ่ง เรื่องยากที่ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจ

แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ผู้ใช้งานทั่วๆ ไป เมื่อพูดถึง Nikon ก็จะนึกถึงการถ่ายภาพนิ่งไปโดยปริยาย เพราะสัดส่วนผู้ใช้งานของ Nikon มักมีอายุมากกว่าแบรนด์กล้องคู่แข่ง ผู้ใช้งานจึงคุ้นเคยว่า Nikon คือกล้องสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ที่ Nikon ต้องแก้ไขในระยะยาว และทำให้ผู้ใช้งานทั่วๆ ไป มองเห็นความสามารถของกล้อง Nikon ว่าสามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ไม่แพ้แบรนด์อื่นๆ เช่นกัน

กล้อง Full Frame มาพร้อมเลนส์อีกหลายตัว

กลยุทธ์ในการจับกลุ่มลูกค้าคนใช้งานกล้อง Full Frame ของ Nikon จนสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดของกล้องประเภทนี้ได้ถึง 42.4% สร้างข้อได้เปรียบให้กับ Nikon เช่นเดียวกัน นั่นคือ ลูกค้าที่ซื้อกล้อง Full Frame มักจะต้องมีชุดเลนส์เพิ่มเติมที่ใช้ในการถ่ายภาพรูปแบบต่างๆ ที่แตกต่างออกไป โดยเฉลี่ยแล้ว 2-3 ชุด ต่อกล้อง 1 ตัว

แตกต่างจากกล้อง Compact ที่มีราคาไม่แพง ที่ผู้ใช้งานมักมีเลนส์เพียงชุดเดียว คือเลนส์ที่ติดมากับตัวกล้อง ไม่จำเป็นต้องซื้อเลนส์เพิ่มเติมอีกอย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา วีระ เล่า โดยเฉลี่ยแล้ว Nikon สร้างยอดขายจากตัวกล้อง ได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการขายชุดเลนส์ ยิ่งส่วนแบ่งของตลาด Full Frame มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งหมายความว่าชุดเลนส์ที่ขายได้มีมากขึ้นเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่า Nikon จะยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในกล้องประเภท Full Frame แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์โควิด-19 ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจกล้อง

ขายออนไลน์ จัดโปรโมชันดึงดูดคนซื้อกล้องใหม่

ทำให้ในช่วงปลายปีนี้ Nikon จำเป็นต้องทุ่มการตลาด โดยหันไปที่การขายผ่านช่องทางออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะโปรโมชันในแอปพลิเคชัน e-Commerce ต่างๆ ซึ่งจะมีการจัดโปรโมชัน Nikon Brand Day เพื่อลดราคา แจกของแถม ดึงดูดให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ว่าในปีนี้ งบการตลาดของ Nikon จะลดลง เพื่อทำให้สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลงเช่นกัน

แต่ก็อย่าลืมว่า การจัดโปรโมชันในช่วงสิ้นปี อาจไม่สามารถช่วยให้ยอดขายของ Nikon และกล้องแบรนด์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง ย่อมส่งผลต่อยอดขายโดยตรง และยังไม่นับรวมโอกาสในการซื้อกล้องใหม่ ที่ลดลงทุกที จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้คนไทย ไม่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ การซื้อกล้องตัวใหม่ จึงอาจกลายเป็นการตัดสินใจท้ายๆ ในช่วงนี้

ยิ่งข้อมูลจากการคาดเดาของวีระ ที่คาดการณ์ว่า คนไทยกว่า 60% ซื้อกล้องเพื่อการท่องเที่ยว ยิ่งตอกย้ำว่า การขายกล้องในช่วงนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็น Nikon หรือแบรนด์ไหนก็ตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา