คนรุ่นใหม่ ทำไมไม่สู้งาน

“เด็กจบใหม่สมัยนี้ ไม่สู้งาน ทำไปสักพัก ไม่พอใจก็ลาออก ว่าง่ายๆ เป็นพวกไม่ค่อยทนงานนั่นแหละ”

“เหยาะแหยะ”

“หนักไม่เอา เบาไม่สู้”

คนรุ่นใหม่ ทำไมไม่สู้งาน

คำพูดที่ว่า “คนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน” มักถูกเอ่ยถึงหรือนำมาเป็นประเด็นเสมอๆ จากกลุ่มคนวัยทำงานที่อยู่ในองค์กรมาแล้วนับสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ความแตกต่างระหว่างช่วงวัยหรือ Generation Gap จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะอย่างน้อยที่สุดบริบทของสังคมที่ไม่เหมือนกันก็หล่อหลอมคนในรุ่นหนึ่งให้ต่างจากรุ่นหนึ่งได้ไม่ยาก

แต่หากจะทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ “คนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน” สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจมีอยู่ 2 ประการหลักๆคือ “คุณค่า” และ “ทางเลือก”

คุณค่า: หลักยึดถือในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน

เมื่อเงื่อนไขของยุคสมัยไม่เหมือนกัน วิธีการมองโลกและการปฏิบัติต่อโลก(ทั้งชีวิตและการทำงาน)ของคนในแต่ละช่วงวัยจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

คุณค่าหรือคุณธรรมในการทำงานของคนยุคนี้ต่างกับคนยุคก่อน คนยุคก่อนโดยเฉพาะเบบี้บูมเมอร์ซึ่งเป็นรุ่นสร้างเนื้อสร้างตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (และอาจนับลากมาจนถึงคน Gen X รุ่นแรกๆ) จะเห็นได้ว่า ชีวิตการทำงานของคนกลุ่มนี้หมายถึงโอกาสในการสั่งสมความมั่งคั่งและยกระดับในชีวิต พูดให้เห็นภาพคือ โดยค่าเฉลี่ยแล้ว “งาน” สามารถทำให้มีบ้าน มีรถ มีเงินเก็บ หรือสร้างครอบครัวมีลูกได้อย่างไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก

ต่างกันกับคนรุ่นหลังหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ในแวดวงการทำงาน หากดูคนที่อยู่ในกลุ่ม Gen Y หรือ Millennials ที่โครงสร้างทางสังคมเริ่มเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งพิษเศรษฐกิจและการเมืองที่เหลื่อมล้ำมากขึ้น แน่นอนว่างานคือเงิน เงินคืองาน แต่ไม่ได้การันตีว่าจะบันดาลสุขเสมอไป คนกลุ่มนี้ทำงานมา 5 ปี 10 ปี แต่การจะสร้างความมั่งคั่งเหมือนกับคนยุคก่อนเป็นเรื่องยาก สูตรสำเร็จอย่างบ้าน-รถ-ลูกไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะต้นทุนในการมีสิ่งเหล่านี้ยากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนั้น หากดูกลุ่มคน Gen Z ที่เกิดหลังปีพ.ศ. 2540 ซึ่งกำลังเป็น First Jobber ในยุคที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด ทุกบริษัทต้องรัดเข็มขัด การหางานทำไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจินตนาการของคนรุ่นใหม่ถึงชีวิตบั้นปลายจึงไม่ใช่เงินเก็บก้อนใหญ่หลังเกษียณ หากแต่คือการทำงานในแต่ละวันให้สำเร็จลุล่วงไปได้ และหาความสุขให้มากเท่าที่จะทำได้ในแต่ละวัน (หรืออย่างน้อยที่สุดคือขอให้มีงานทำก่อนก็ดี) เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ คุณค่าของงานในมุมมองของคนรุ่นใหม่จึงเป็นเหมือนความท้าทายในชีวิต เขาต้องการเก่งขึ้นจากงานที่ทำมากกว่าจะจงรักภักดีต่อองค์กรหรือบริษัท เพราะสาระสำคัญคือ “เนื้องานที่ทำ” ไม่ใช่ “หน้าตาของบริษัท” เหมือนที่คนยุคก่อนเป็นกันเสียส่วนใหญ่

ทางเลือก: บริบทของโลกที่เปิดกว้าง

คนรุ่นใหม่เกิดมาในยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกันหมด พูดให้เห็นภาพคือ เมื่อพวกเขาเข้า Social Media ต้องยอมรับว่า หลายครั้งรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลก ก่อนที่จะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในไทยเสียอีก

โลกที่เปิดกว้างคือโอกาส ทั้งโอกาสในชีวิตและการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ทักษะภาษาอังกฤษสามารถเป็นใบเบิกทางให้คนรุ่นใหม่สามารถทำงานกับบริษัทหรือองค์การระหว่างประเทศได้อย่างดี

ในแง่นี้ เวลาที่เห็นคนรุ่นใหม่ย้ายงานบ่อยและตีความว่า “หนักไม่เอา เบาไม่สู้” จึงอาจต้องลองมองในอีกมุม นั่นก็คือ ชีวิตของเขามีทางเลือกมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนมาก ด้วยบริบทของโลกที่เปิดกว้าง การโยกย้ายถ่ายเทจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร

work
ภาพจาก Unsplash โดย Brooke Cagle

คนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน?

อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ ที่ว่ากันว่าคนรุ่นใหม่ทำงานไม่ทนนั้น เอาเข้าจริงแล้ว “งาน” ที่ให้ทำ มันคืองานอะไร

  • เอกสารเป็นกองๆ
  • งานที่ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น
  • ห้ามใช้ความคิดนอกกรอบ
  • เข้า-ออกงานตรงตามเวลา
  • งานที่ต้องใช้กำลังแรงกายอย่างหนัก แต่ไม่มีเป้าหมาย
  • งานที่ไม่มี impact งานที่ไร้ passion แห้งแล้งความคิดสร้างสรรค์

หากบริษัทที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน แต่ในตัวองค์กรยังมีแต่งานลักษณะที่ว่ามานี้ ปัญหาก็อาจไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่เป็นเพราะโครงสร้างการทำงานในบริษัทแบบตกยุคเสียมากกว่า เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คุณค่าและทางเลือกของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากองค์กรไม่ปรับตัว กลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ก็คงบอกได้เพียงว่า “ถ้างานไม่ดี แล้วทำไมต้องทน”

ชวนมาหาคำตอบได้ใน Brand Inside Forum 2020: New Workforce

มุมมองของบทความนี้เป็นเพียงหนึ่งมุมมองเท่านั้น ยังมีอีกหลายมุมมองในโลกการทำงานที่พร้อมมาแลกเปลี่ยนให้ฟังกัน โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างคนต่างวัย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนอายุ 45 จะทำงานร่วมกับเด็กเพิ่งจบใหม่ได้อย่างลงตัว จึงอยากชวนมางาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce

เพราะงานนี้มี Panel หนึ่งที่ชื่อว่า “How to Deal with Cross-gen Workforce” ซึ่งจะมาเล่าแนวคิดและวิธีการหลอมรวมพนักงานในองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จาก ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) และ อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ของ SCG CBM

ตอนนี้เปิดขายบัตรเข้าร่วมงานแล้ว เข้าไปดูรายละเอียดและซื้อบัตรได้ที่ Eventpop

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา