นายกฯ ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ เสนอ 5 แนวทางดูแลประชาชนหลัง COVID-19

นายกรัฐมนตรีได้เสนอ 5 แนวทางดูแลประชาชนเรื่องปากท้อง นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลัง COVID-19

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประยุทธ์ จันทร์โอชา – ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงการณ์พิเศษเมื่อเย็นวันพฤหัสที่ผ่านมา ในเรื่องของการปรับ ครม.ใหม่ และการเดินหน้าประเทศหลังจากการแพร่ระบาด COVID-19 โดยมีมุมมองที่ว่าถ้าหากประชาชนป้องกันและร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับ COVID-19 จนสำเร็จจะสามารถประหยัดเงินในระดับหลายพัน หรือหลายหมื่นล้านบาท และนำเงินดังกล่าวมาพัฒนาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนได้หลายล้านครอบครัว

ในด้านของเศรษฐกิจนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “วิกฤตเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะไม่หายไปได้ในเร็ววัน พวกเราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง” และยังได้กล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจประเทศไทยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ก็ต่อเมื่อประเทศอื่น ๆ ในโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”

แนวทางเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีเสนอแก่ประชาชน 5 ข้อได้แก่

  1. เยียวยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SME และประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา
  2. ทำงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
  3. สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่าง ๆ ให้ยังคงการจ้างงานต่อไป และให้ธุรกิจต่าง ๆ พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น
  4. ต้องการให้คนรุ่นใหม่ หรือนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ต้องมีงานทำ
  5. รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนในสังคม รวมไปถึงการทำงานต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส

นอกจากนี้ในวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนด้วยกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังมอบนโยบายแก่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้เร่งแก้ไขปัญหาประชาชนในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้ประชาชน การจ้างงาน การส่งออก รวมไปถึงการท่องเที่ยว แต่นายกรัฐมนตรีก็มีมุมมองที่ว่าหลายประเทศเองก็มุ่งเน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับไทยที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 2 ล้านคน จากเดิมที่ไทยมีนักท่องเที่ยวอยู่ในระดับ 20 ล้านคน ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศต้องขยับขยายการท่องเที่ยวภายในประเทศให้มากขึ้นแต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยด้านสุขภาพด้วย

ที่มา – เว็บไซต์รัฐบาลไทย [1], [2]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ