ก่อนหน้านี้นักวิจัย Harvard เคยศึกษาลักษณะนิสัย 12 ประการ ของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความประสบความสำเร็จในชีวิต นอกเหนือจากความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient: IQ)
ย้อนกลับไปในอดีตความฉลาดทางอารมณ์ไม่ได้เป็นสิ่งชี้วัดใดๆ มาก่อน เพราะแนวคิดความฉลาดทางสติปัญญายังเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากกว่า จนกระทั่งกลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่มีการตีพิมพ์หนังสือ Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ ของ Daniel Goleman เมื่อปี 1995 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ในความจริงแล้วความฉลาดทางอารมณ์ไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน ทั้งในตัวผู้บริหาร หัวหน้า หรือแม้แต่พนักงานทั่วไป
Google เคยทำการทดลองโปรเจคที่ชื่อว่า Aristotle Initiative พบว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่จะทำให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ต้องมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์และสังคมการทำงาน ต้องมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทุกคนมีความเท่าเทียม และต้องมีความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลในแง่ลบจากสิ่งที่ทำ ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าหัวหน้าทีมมีความฉลาดทางอารมณ์มากเพียงพอ
นอกเหนือจากปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่าตัวเองได้รับการดูแล เอาใจใส่จากการทำงาน ซึ่งความรู้สึกนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดีๆ จากการทำงาน ได้แก่
- ช่วยให้รู้สึกว่าองค์กรนี้น่าทำงานด้วย เพิ่มขึ้น 10 เท่า
- ช่วยให้อยากทำงานในองค์กรนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 9 เท่า
- ช่วยให้รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานที่ทำ เพิ่มขึ้น 7 เท่า
- ช่วยลดความรู้สึกหมดไฟ และเป็นทุกข์จากการทำงานลง 4 เท่า
ทำไม EQ จึงสำคัญสำหรับการทำงานในยุคใหม่
แม้ว่าความฉลาดทางสติปัญญาจะมีความสำคัญในฐานะสิ่งที่การันตีความสามารถของคนที่จะเข้ามาทำงานในองค์กร แต่อย่าลืมว่าความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นสิ่งที่การันตีได้เช่นกัน ว่าคนๆ หนึ่งจะมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ และอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งของตัวเอง และของผู้อื่นได้อย่างไร นอกจากนี้ความฉลาดทางอารมณ์ยังสำคัญสำหรับการทำงานในยุคใหม่ ดังนี้
ตอบสนองความต้องการของคนในมุมที่ลึกกว่าเดิม
ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow ความต้องการขั้นพื้นฐานของคนคือ ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เมื่อสามารถเติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานได้แล้วคนก็จะรู้สึกอยากเติมเต็มความต้องการในลำดับขั้นถัดๆ ไป เพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ในโลกปัจจุบันความต้องการขั้นพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ถูกเติมเต็มอย่างมั่นคงไปแล้ว หลายคนจึงอยากหันมาเติมเต็มความต้องการจากการทำงานแทน โดยเฉพาะความรู้สึกมีส่วนร่วมกับงานที่ทำ คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำจึงต้องรู้จักใช้ความฉลาดทางอารมณ์ที่มีเพื่อรอบรับอารมณ์ความต้องการของคนในทีมให้ได้
คนต้องรับมือกับอารมณ์ เพราะเทคโนโลยีทำแทนได้ทุกอย่าง
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการทำงานของคนมากขึ้น งานบางอย่างเทคโนโลยีสามารถทำหน้าที่แทนคนได้แล้ว แต่สิ่งที่เทคโนโลยียังไม่สามารถทำแทนได้ คือ เรื่องอารมณ์และความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกสงสาร และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งจะกลายมาเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต
เส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับการทำงานที่หายไป
สภาพการทำงานในปัจจุบันทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวค่อยๆ หายไป ทั้งการทำงานที่บ้าน (Work From Home) รวมถึงการเอางานที่ทำไมเสร็จกลับมาทำต่อที่บ้าน เราจึงต้องแบกรับอารมณ์จากการทำงานแทบจะตลอดเวลา และในขณะเดียวกันเราก็อาจนำอารมณ์ส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวกับการทำงานอย่างไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะได้เปรียบ เพราะสามารถบริหาร จัดการ รวมถึงรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง และของคนอื่นได้ดีกว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเปลี่ยนไป
ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะมีลักษณะคล้ายๆ กับ ลูกจ้างทำงานเพื่อแลกกับเงินค่าตอบแทนที่นายจ้างให้ ทุกอย่างถือว่าจบ แต่ในปัจจุบันทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีความคาดหวังต่อกันมากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ที่ส่งผลต่อการทำงาน เราจึงเห็นหลายๆ บริษัทเริ่มปรับนโยบายในการให้สวัสดิการโดยคำนึงถึงอารมณ์ของพนักงานมากขึ้น เช่น เครือโรงแรม Hilton ให้เงินสนับสนุนเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรของพนักงานคนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 316,900 บาท
อารมณ์ คือความต้องการหลักของคน Gen Z
ที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่รูปแบบการทำงานสมัยใหม่ของคน โดยเฉพาะคน Gen Z ที่มีวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนๆ ผลการวิจัยสภาพสังคมการทำงานพบว่า คน Gen Z มีแนวโน้มที่จะเกิดความเหงาจากการทำงานกว่า 73% นอกจากนี้คน Gen Z ยังต้องการให้หัวหน้าของตัวเองมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนทำงาน มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 เหตุผลว่าทำไมการทำงานในยุคใหม่ความฉลาดทางอารมณ์จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ ไม่แพ้ความฉลาดทางสติปัญญา เพราะเราแทบไม่สามารถแยกอารมณ์ออกจากการทำงานได้เลย ดังนั้นหากมีความฉลาดทางอารมณ์ ก็แสดงถึงความสามารถที่จะรับมือกับอารมณ์และความต้องการของมนุษย์ได้ดีกว่า
ที่มา – Entrepreneur
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา