ความแข็งกร้าวของจีนและจุดยืนที่ชัดเจน อาจทำให้ผู้คนไม่คิดว่าจะมีวันที่จีนอยากใช้แผนปรองดองเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ แต่ Wang Yi รัฐมนตรีต่างประเทศจีนก็ทำให้ภาพของจีนเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย
จีนพร้อมสานสัมพันธ์สหรัฐฯ: บรรเทาความร้อนแรงความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย
ล่าสุด Wang Yi เรียกร้องให้ใช้แผนปรองดองสานสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาใหม่ หลังเผชิญหน้ากันหลากหลายมิติยาวนาน และทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงมากที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ ซึ่งความต้องการปรองดองนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุปัจจัยสำคัญสองประการคือ มีความขัดแย้งร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นจะตัดขาดออกจากกัน (decoupling) และมีการเยือนระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย
ผู้แทนระดับสูงจากทั้งสองฝ่ายหนึ่งคือ Yang Jeichi ตัวแทนจีน จากคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ และ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอมเริกา ทั้งสองฝ่ายหารือกันหลังความสัมพันธ์กำลังพัฒนาเป็นสงครามเย็นรอบใหม่
การพบปะกันครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ฮาวายนี้ ก็เพื่อหาทางเจรจากันอย่างสร้างสรรค์ และหาทางทำให้ความร้อนระอุในความสัมพันธ์บรรเทาลง ซึ่งจีนมีความสับสนต่อท่าทีของสหรัฐฯ ทั้งกรณีฮ่องกง ซินเจียง ไต้หวัน จนต้องย้ำให้สหรัฐฯ ยึดมั่นนโยบายจีนเดียวและเคารพอำนาจอธิปไตยจีน เป็นต้น
Wang กลายเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลจีนที่มีท่าทีแง่บวกต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย โดยเน้นย้ำว่า จีนไม่ได้ต้องการแทนที่สหรัฐอเมริกาในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก นอกจากนี้ Wang ยังกล่าวว่าสิ่งที่ปลุกความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือ การเผชิญหน้ากับความท้าทายตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างันตั้งแต่ปี 1979
จีนพร้อมกระชับมิตรสหรัฐฯ ได้ ถ้าไม่คิดเปลี่ยนจุดยืนจีน?
Wang ย้ำว่านโยบายของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ไม่เปลี่ยนแปลงและเรายังต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างจริงใจ ทั้งสองประเทศต้องพยายาหารือเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ จีนพร้อมแล้วที่จะรื้อฟื้นการเจรจาสองฝ่ายที่เคยถูกระงับไว้เดิม ตราบเท่าที่สหรัฐฯ ก็ยินดีจะเจรจาเหมือนกัน
จากนั้น Wang ก็เสนอ 3 เรื่องที่สถาบัน think tank นำเสนอและน่าจะนำมาปรับใช้ได้ ก็คือ อันดับแรก ทั้งสองฝ่ายต้องหารือภายใต้กรอบทวิภาคีในประเด็นที่สามารถทำงานร่วมกันได้ อันดับต่อมาคือ รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่สร้างความขัดแย้งควรหาทางแก้ไขผ่านการเจรจา หารือร่วมกัน และอันดับที่สามคือ ถ้าประเด็นปัญหาที่หารือระหว่างกันมันไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ควรจะจัดการให้มีความขัดแย้งระหว่างกันให้น้อยที่สุด หรือสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายน้อยที่สุด
ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนฐานของการสงวนไว้ซึ่งความแตกต่างระหว่างกัน (กล่าวคือ อะไรที่แตกต่างกันเกินไป เช่น ฐานคิด ระบอบการปกครองที่แตกต่างกันเกินไป สงวนไว้ ไม่ต้องก้าวล้ำจุดยืนของกันและกัน หมายความว่า เป็นเพื่อนกันได้ แต่ไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกัน เคารพซึ่งกันและกัน)
ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันควบคุมโรคระบาด จีนยินดีจะแบ่งปันประสบการณ์จัดการโควิด-19 และประสบการณ์ในการพัฒนาวัคซีนกับสหรัฐอเมริกา
การเผชิญหน้ากันทางทหารก็เกิดขึ้นด้วย สหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำคือ USS Ronald Reagan และ USS Nimitz เข้าร่วมซ้อมรบในน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศบริเวณดังกล่าว ในแง่หนึ่งเป็นการประกาศศักดาของสหรัฐฯ เป็นการแสดงความเป็นพันธมิตรกับประเทศที่เหลือพร้อมดูแลได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าไม่เป็นมิตรกับจีนชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม Xi Jinping และ Donald Trump เคยพูดคุยกันทางโทรศัพท์และเห็นว่า ความร่วมมือเท่านั้นที่จะเป็นทางออกเดียวของความขัดแย้งที่เป็นปัญหาระหว่างกันอยู่
ปัญหารุมเร้าทั้งภายใน-ภายนอกประเทศ: ควรแก้ปัญหาภายในก่อน?
การแสดงจุดยืนของรัฐมนตรีต่างประเทศล่าสุดของจีน อย่างน้อยก็เป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าจีนพร้อมเป็นมิตร หลังสหรัฐฯ เริ่มโจมตีจีนหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคงที่เริ่มดาหน้าออกมาป้องปรามจีนด้วยการประกาศตำหนิชัดเจนทั้ง การแบนแอปพลิเคชัน การจำกัดวีซ่า การห้ามนักศึกษาที่คาดว่าจะเป็นสายลับเข้าประเทศ ไปจนถึงการไม่ยอมเจรจาการค้าต่อ
- ทรัมป์ชี้ ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน “เสียหายอย่างรุนแรง” ย้ำไม่ใช่เวลามาเจรจาข้อตกลงการค้าเฟสที่ 2
- FBI จัดหนัก มองจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง-เศรษฐกิจ-เป็นเผด็จการ-เป็นโจรกรรมความมั่งคั่ง
- สหรัฐกำลังจับตามอง TikTok รวมถึง Social Media อื่นๆ จากจีน รอทรัมป์ตัดสินใจว่าแบนหรือไม่
- ทรัมป์จัดหนักจีน: ถอนตัวจาก WHO, ตัดสิทธิพิเศษฮ่องกง, ห้ามสายลับจีนเข้าประเทศ
จีนเปิดหน้าพร้อมขอคืนดีชัดเจนขนาดนี้ ทั้งที่ตัวเองก็มีเรื่องรุมเร้าเพราะขัดแย้งหลายประเทศ หลายมิติรอบด้าน อีกทั้งสหรัฐฯ ก็รุกจีนหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ด้านสหรัฐฯ เองก็มีทั้งโรคระบาด คนตกงานมหาศาล ขณะเดียวกันประเด็นเหยียดสีผิว การต้านการเหยียดก็ยังรุมเร้าไม่รู้จบ ไหนะต้องแสดงจุดยืนร่วมกับประเทศต่างๆ ตามอุดมการณ์ที่ตัวเองยึดมั่น แถมยังต้องแสดงความเป็นผู้นำโลกในการช่วยดูแลประเทศอื่นๆ ที่เป็นทั้งชาติพันธมิตรและทั้งที่มีขนาดเล็กกว่า อำนาจในการต่อรองด้อยกว่า ไปจนถึงการพยายามรักษาฐานเสียงเพื่อให้ชนะเลือกตั้งครั้งถัดไปอีก
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจเรียกได้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีเรื่องยุ่งเหยิงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่น้อยไปกว่ากัน การสานสัมพันธ์ให้ดีขึ้นก็อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาใหญ่ระหว่างกันไปได้บ้าง แต่ก็เป็นการบาลานซ์ประเทศตัวเองกับจุดยืนตัวเองและสานประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ซับซ้อนไม่แพ้กัน
ที่มา – South China Morning Post (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา