อินโดนีเซียจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% จากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่มาทำธุรกิจในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขาลงในช่วงโควิดที่ผ่านมา
สำนักงานภาษีแห่งชาติของอินโดนีเซียประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป Amazon Web Services, Google Asia Pacific, Google Ireland, Google LLC, Netflix และ Spotify หรือบริษัทต่างชาติใดก็ตามที่ขายผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีมูลค่ามากกว่า 600 ล้านรูเปียห์ต่อปี และมียอดผู้ใช้งานต่อปีมากกว่า 12,000 ล้านคน จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 10%
Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ประชาชนใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กันเป็นจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงจะเรียกเก็บภาษีจากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ของอินโดนีเซีย เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากธุรกิจกลุ่มนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจมหาศาลก็ตาม
การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดจากการที่อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าปีนี้รายได้ของรัฐจะลดลง 13% ถึงแม้จะมีแผนการใช้จ่ายกว่า 695.2 ล้านล้านรูเปียห์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งการมีรายได้ลดลงและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนี้จะทำให้อินโดนีเซียขาดดุลงบประมาณ 1 พันล้านล้านรูเปียห์ หรือคิดเป็น 6.34% ของจีดีพี
อนาคตของธุรกิจดิจิทัลในอินโดนีเซีย
จากผลการวิจัยของ Google, Temasek Holdings และ Bain & Company พบว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าในปี 2025 ธุรกิจเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตจะมีมูลค่าสูงถึง 1.33 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.1 ล้านล้านบาท)
สรุป
อินโดนีเซียเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องการจัดเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยของเรามีนโนบายอย่างไรบ้าง ลองอ่านบทวิเคราะห์เรื่อง “Facebook-Netflix-Google บริษัทข้ามชาติหลีกเลี่ยงภาษีอย่างไร ทำไมรัฐไทยเก็บเงินไม่ได้“
ที่มา: Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา