การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นคำกล่าวที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องเคยได้ยินมา ดังนั้นการใช้เวลาว่างของคนไทย จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ใช้เวลานาน ถ้าไม่ว่างจริงๆ คงทำไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเวลาว่างอาจไม่จำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการทำเรื่องใหญ่ๆ เสมอไป เพราะความจริงแล้ว สิ่งเล็กๆ ที่ทำในเวลาอันสั้นก็ทำให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน
เหมือนอย่างบรรดามหาเศรษฐี ผู้มีชื่อเสียง และบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั่วโลกหลายๆ คน ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เวลาว่างสั้นๆ ในชีวิตประจำวัน ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสมเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของพวกเขา
สรุปความคิด เขียนชีวิตในบันทึกประจำวัน
การฝึกเขียนบันทึกในชีวิตประจำวัน เพื่อทบทวนความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้เจอมาในแต่ละวัน นักวิจัยหลายคนเชื่อว่าการเขียนบันทึกในชีวิตประจำวันแบบนี้ เป็นการเขียนเพื่อเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้เกิดการจัดระเบียบประสบการณ์ที่เราเจอมาในแต่ละวัน จนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงยังช่วยพัฒนาความคิดเชื่อมโยงของเรื่องที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
Peter Drucker เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเขียนบันทึกในชีวิตประจำวัน ทุกๆ ครั้งที่เขาต้องตัดสินใจเรื่องที่มีความสำคัญเขาจะจดบันทึกสิ่งที่เขาคาดหวังเอาไว้ แล้วหลังจากนั้นอีกหลายเดือนผ่านไป เขาจะกลับมาเปิดดูบันทึก และเปรียบเทียบผลลัพธ์กับสิ่งที่เขาคาดหวังเอาไว้ในตอนแรก
Albert Einstein นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการจดบันทึกเรื่องราวการค้นพบต่างๆ รวมแล้วกว่า 80,000 หน้ากระดาษ
งีบหลับสั้นๆ แต่ได้ผลดี
Sara Mednick ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจาก University of California เล่าว่า การงีบหลับในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง จะมีส่วนช่วยในการจัดระเบียบและรวบรวมความรู้ที่ได้เรียนมาภายในสมอง เทียบเท่ากับการนอนหลับ 8 ชั่วโมง และยังเคยมีการทดลองให้นักเรียนเรียนหนังสือในตอนเช้า แล้วสอบในตอนบ่าย ผู้ที่ได้งีบหลับในช่วงเวลากลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถทำผลการทดสอบได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้งีบหลับกว่า 30%
Albert Einstein ใช้เวลาว่างหลังทานอาหารกลางวันไปกับการงีบหลับสั้นๆ หลังจากตื่นนอนก็ดื่มชาก่อนแล้วค่อยกลับไปทำงาน ส่วน Leonado Da Vinci ก็ใช้เวลาวันละ 10 นาทีไปกับการงีบหลับสั้นๆ เช่นกัน
เดินนิดหน่อยๆ แค่ 15 นาทีต่อวัน
เคยมีผู้ทำการศึกษาประโยชน์ที่ได้จากการเดินในชีวิตประจำวัน พบว่า การเดินไปคุยไป จะช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย ส่วนการเดินของผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป วันละ 15 นาที จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตไปได้ 22%
Steve Jobs เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเดิน เพราะเขาชอบพาพนักงานเดินไปคุยงานไป ภายในพื้นที่สำนักงานของ Apple มากกว่าจะนั่งคุยกันภายในห้องประชุม โดยเฉพาะเวลาที่เขาต้องคุยเรื่องที่จริงจังมากๆ ส่วน Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Twitter ใช้เวลาในช่วงเช้าของแต่ละวันไปกับการเดินในระยะทาง 5 ไมล์ หรือประมาณ 8 กิโลเมตร
อ่านหนังสือวันละนิด เป็นการลงทุนอันคุ้มค่า
การอ่านหนังสือจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาความจำ เพิ่มความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้อื่น รวมถึงยังช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การอ่านหนังสือเป็นเหมือนการลงทุนทีละเล็กละน้อยในระยะยาว ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าไปตลอดชีวิต เพราะการอ่านหนังสือทำให้เกิดการเก็บรวบรวมความรู้ ซึ่งสามารถนำออกมาใช้ได้ในอนาคต
Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Microsoft มีการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมยามว่างที่เขาชอบทำมากที่สุด ซึ่งในแต่ละปีเขาจะแนะนำหนังสือเล่มโปรดที่เขาชอบอ่านอยู่เสมอๆ
สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว
Joshua Shenk ผู้เขียนหนังสือ Powers Of Two: Finding the Essence of Innovation in Creative Pairs ตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ และบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนๆ เดียว แต่เกิดจากการมีคนช่วยคิดช่วยลงมือทำ เช่น John Lennon และ Paul McCartney นักร้อง นักแต่งเพลงในตำนาน Marie และ Pierre Curie ผู้ค้นพบรังสีเรเดียมที่ใช้ในการรักษาโรค รวมถึง Steve Jobs และ Steve Wozniak สองผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple
ใช้เวลาไปกับการลองผิดลองถูกในชีวิต
แม้ว่าการอ่านจะมีความสำคัญ แต่อย่าลืมว่าการอ่านเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยการลงมือทำ ลองผิดลองถูกด้วยจึงจะประสบความสำเร็จในที่สุด เช่น Thomas Edison ทดลองการผลิตถ่านอัลคาไลน์กว่า 50,000 ครั้ง กว่าจะประสบความสำเร็จ และทดลองประดิษฐ์หลอดไฟอีกกว่า 9,000 ครั้ง กว่าจะออกมาเป็นหลอดไฟที่เราเห็นในทุกวันนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการลองผิดลองถูกของ Edison ทำให้เขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 1,100 รายการ
ที่มา – cnbc
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา