เรื่อง Basic Income หรือการแจกเงินให้เปล่ากับประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลายประเทศกำลังหันมาใช้นโยบายเช่นนี้มากขึ้น ชาวสเปนก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่รัฐบาลกำลังให้การสนับสนุน ช่วยเหลือทางด้านการเงินแบบให้เปล่าแก่ประชาชนทั่วประเทศครั้งแรก แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้คนติดใจสงสัย ข้องใจอยู่ว่า จริงๆ แล้วนโยบายนี้ มันช่วยลดระดับการว่างงานในอัตราที่สูงและลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่
โดยจำนวนเงินให้เปล่าที่รัฐบาลสเปนจะให้แก่ประชาชนนี้ จะใช้งบราวๆ 3 พันล้านยูโร (1.05 แสนล้านบาท) ต่อปี จะให้ทุกๆ ปีสำหรับประชาชนที่ยากจน ซึ่งมีราว 8.5 แสนครัวเรือน ราว 2.5 ล้านคน ซึ่งสเปนมีประชาชนราว 46 ล้านคน นโยบายนี้เป็นคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลรับปากว่าจะให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว แต่รัฐบาลก็เร่งนำมาจ่ายให้ประชาชนเร็วขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนอย่างหนักหน่วง
ครัวเรือนที่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินนี้ จะพิจารณาจากรายได้ของประชาชนและจำนวนบุตรของแต่ละครอบครัวด้วย รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ราวครึ่งหนึ่งของรายได้ขั้นต่ำ หรือประมาณ 1,108 ยูโรต่อเดือน (38,615 บาท)
Zsolt Darvas นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน think tank ที่ตั้งอยู่ในบรัสเซลส์ พูดถึงประเด็นนี้ว่า ไม่ควรจะใช้มาตรการกระตุ้นจนทำคนให้อยู่กับบ้านโดยไม่ต้องทำงาน แต่ควรใช้สำหรับคนที่กำลังตกงานหรือสำหรับบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการปลดพนักงาน ขณะที่ รัฐมนตรีด้านความมั่นคงทางสังคม Jose Luis Escriva กล่าวว่า เงินให้เปล่านี้ จะช่วยให้คนไม่หมดกำลังใจในการหางาน ซึ่งการให้เงินเปล่านี้จะสอดคล้องกับคนที่มีรายได้ต่ำมากๆ ในสเปน
สเปนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดในประเทศยุโรป เมื่อเกิดวิกฤตโควิดระบาดยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงมากขึ้น ปลายมีนาคมที่ผ่านมา สเปนมีคนถูกปลดออกจากงานมากถึง 14.5% ทั้งนี้ ประเทศในยุโรปอื่นๆ เช่นฟินแลนด์และอิตาลี ก็ใช้โครงการเงินให้เปล่าแก่ประชาชนเช่นกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าจะช่วยให้ระดับการว่างงานลดลง แต่มีผลการศึกษาพบว่า มันช่วยทำให้คนไม่หมดกำลังใจขณะหางานทำในช่วงตกงานได้
นอกจากสเปนจะเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูง มีรายได้ต่ำมากแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดด้วย ซึ่งก็เป็นผลเชื่อมโยงมาตั้งแต่วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปในปี 2011 แล้ว
ทั้งนี้ Federico Steinberg นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Elcano Royal Institute ซึ่งเป็นสถาบัน think tank อีกรายหนึ่งพูดถึงประเด็น basic income หรือเงินให้เปล่านี้ว่า มันมีข้อถกเถียงอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องจำนวนเงินที่ประชาชนได้รับนั้นเพียงพอ หรือพอใช้ต่อภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่หรือเปล่า ส่วนอีกเรื่องคือผลกระทบที่มีต่อการคลังของภาครัฐ เขาบอกว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ควรจะมาพร้อมกับการปฏิรูปทางการเงินด้วย
ที่มา – CNBC, European Commission: Eurostat
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา