กรณีศึกษาจากฟินแลนด์: 2 ปีที่ทดลองแจกเงินคนจน-คนว่างงาน สรุปไม่ได้ช่วยให้มีงานทำมากขึ้น

ฟินแลนด์ ชาวฟินแลนด์
ชาวฟินแลนด์ | Photo: Shutterstock

ทำความรู้จัก Basic Income หรือเงินเดือนพื้นฐาน-ให้เปล่ากันก่อน

Basic Income หรือ Universal Basic Income เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่รัฐหรือชุมชนทางการเมืองให้เงินจำนวนหนึ่งกับประชาชนเป็นรายคน และที่สำคัญคือเงินจำนวนนั้นต้องเพียงพอต่อการครองชีพ

อันที่จริง แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะจากประวัติศาสตร์ถ้าย้อนไปดูจะพบว่าแนวคิดนี้ได้รับการเสนอกรอบไว้คร่าวๆ แล้วในนิยายเรื่อง Utopia ของ Thomas More ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 (กว่า 500 ปีมาแล้ว)

แนวคิดนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 จากหลากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น ทั้งกระแสของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจที่กำลังเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก แต่ถึงที่สุดแล้ว แนวคิดนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และยังมีน้อยประเทศนักที่ได้นำเอาโมเดลนี้ไปทดลองใช้จริง

ฟินแลนด์ ชาวฟินแลนด์
ฟินแลนด์ | Photo: Shutterstock

กรณีศึกษาจากฟินแลนด์: 2 ปีที่ทดลองแจกเงินคนจน-คนว่างงาน

“ฟินแลนด์” คือประเทศหนึ่งเดียวในยุโรปที่นำเอาโมเดลแจกเงินเดือนคนจน-คนว่างงานแบบให้เปล่า (Basic Income) มาทดลองใช้ในประเทศ

หลังจากที่รัฐบาลฟินแลนด์ได้ทำการสุ่มแจกเงินเดือนพื้นฐาน-ให้เปล่ากับประชาชนชาวฟินแลนด์ที่มีรายได้ต่ำและ/หรือว่างงานจำนวน 2,000 คน โดยทดลองแจกเงินให้เปล่าจำนวน 635 ดอลลาร์หรือประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 ปีเต็ม (โครงการเริ่มต้นในปี 2017)

  • ผลสรุปที่ได้จากการทดลองปรากฏว่า การแจกเงินไม่ได้ช่วยให้อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง
  • แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมากขึ้นคือ ความสุขของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับแจกเงิน รวมถึงความรู้สึกว่าสังคมเหลื่อมล้ำน้อยลง และมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น บางคนที่ได้รับแจกเงินให้เปล่าในครั้งนี้ได้เริ่มต้นสร้างงานด้วยตนเอง หลังจากที่ว่างงานมานาน

ตัวอย่างของคนที่ได้รับเงินจากโครงการทดลองครั้งนี้ของรัฐบาลฟินแลนด์ที่น่าสนใจคือ Sini Marttinen วัย 36 ปี เธอเคยเป็นที่ปรึกษาด้านไอทีให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง และตกงานมาเกือบปี ก่อนที่จะได้เป็นหนึ่งในคนที่เข้าโครงการทดลองแจกเงินของรัฐบาล ซึ่งเธอเปรียบเปรยว่ามันเหมือนกับการ “ถูกหวย”

Marttinen เล่าให้ฟังว่า หลังจากได้รับเงินเดือนพื้นฐาน-ให้เปล่าจากรัฐบาลฟินแลนด์ ทำให้เธอมีความมั่นใจมากขึ้น สุดท้ายหลังจากว่างงานมานาน ด้วยโครงการนี้เธอจึงเลือกเปิดร้านอาหารร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน

  • “ฉันคิดว่าผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือเรื่องจิตวิทยา เพราะเมื่อคุณจะได้เงินเดือนเดือนละประมาณ 20,000 บาทไปตลอด 2 ปี สิ่งนั้นมันทำให้ฉันรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเสียที”

ส่วนอีกคนหนึ่งคือ Tuomas Muraja วัย 45 ปี เขาเป็นนักข่าวและนักเขียนที่ได้เข้าร่วมโครงการ บอกว่า การได้รับเงินเดือนพื้นฐาน-ให้เปล่าทำให้เขามีสมาธิมากขึ้นในการผลิตผลงาน ในช่วง 2 ปีที่ได้รับเงินจากรัฐบาล เขาเขียนหนังสือได้ 2 เล่ม

  • “ผมคิดว่าเมื่อผู้คนได้รับเงินอย่างอิสระ (หมายความว่า ให้เปล่าและไม่มีข้อผูกมัด) มันจะทำให้เขามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ผลิตงานได้มากขึ้น และมีชีวิตที่ดีมากขึ้น เพราะตราบใดที่คุณรู้สึกอิสระ(ทางการเงิน) ก็จะทำให้คุณรู้สึกมั่นคงปลอดภัยไปด้วย และมันก็จะทำให้คุณได้ทำในสิ่งที่คุณอยากทำ”

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเรื่องการแจกเงินเดือนพื้นฐาน-ให้เปล่ายังไม่มีบทสรุปอย่างชัดเจน ล่าสุดดูเหมือนว่า Juha Sipila นายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์จะเสนอว่า หากนำโครงการนี้มาใช้จริง อาจจะมีเงื่อนไขว่าคนที่รับเงินจากรัฐบาลต้องเป็นคนจนรายได้น้อยเท่านั้น และเมื่อได้รับงานทำแล้ว หากปฏิเสธงานนั้น จะทำให้สิทธิ์ในการรับเงินจากรัฐบาลสิ้นสุดลงด้วย

มากไปกว่านั้น รัฐบาลอื่นๆ ที่ได้เห็นการทดลองแจกเงินของฟินแลนด์ หากต้องการให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในประเทศอาจจะต้องพิจารณากันใหม่อีกครั้ง

แต่ถึงที่สุดแล้ว เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการแจกเงินในอัตราที่เหมาะสมต่อการครองชีพ อาจไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น แต่ในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำ ความสุขที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน และการสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้คนในการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากการทดลองแจกเงินของฟินแลนด์ในครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูล – The New York TimesBasic Income

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา