กรณีศึกษาการปรับตัว จากขายดีลบุฟเฟ่ต์ + ยกกระเป๋าสนามบิน สู่ “ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร”

2 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตไวรัสโควิดคือ “วงการร้านอาหาร” และ “แวดวงการบิน”

ในห้วงที่ไวรัสระบาดหนัก ร้านอาหารทั่วเมืองถูกสั่งปิด รายได้หดหายกันเป็นลูกโซ่ ในขณะเดียวกันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางก็มีชะตาไม่ต่างกัน การบินทั้งในและระหว่างประเทศต้องหยุดชะงักชั่วคราว จนมีคำกล่าวว่า ต่อให้สถานการณ์กลับมาดีอีกครั้ง ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งในแง่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับ New Normal ไปจนถึงการดำเนินการทางธุรกิจ และจำนวนผู้แข่งขันที่อาจล้มหายตายจากไป

แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส

หนึ่งในตัวอย่างการปรับตัวที่น่าสนใจในไทยเป็นสตาร์ทอัพ 2 รายที่ Brand Inside เพิ่งได้สัมภาษณ์ไปคือ Hungry Hub สตาร์ทอัพขายดีลบุฟเฟ่ต์ร้านอาหาร กับ Airportels สตาร์ทอัพจัดส่งกระเป๋าจากไปยังสนามบินและโรงแรม

สตาร์ทอัพไทยทั้ง 2 รายนี้ได้รับผลกระทบที่หนักหนาสาหัสจากการสถานการณ์ไวรัสระบาดและมาตรการปิดเมือง รายได้หดหายกันไป 90-100% แต่สุดท้ายทั้ง 2 รายก็จับมือกันเพื่อร่วมต่อสู้ในตลาดที่หลายคนบอกว่าเป็น “อนาคต” นั่นก็คือเดลิเวอรี่อาหาร

แนะนำตัว-แนะนำธุรกิจกันก่อน

คุณสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ เจ้าของ Hungry Hub บริการระบบจองโต๊ะร้านอาหารที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 โดยปัจจุบันโมเดลการทำธุรกิจคือนำร้านอาหารที่ขายแบบ a-la-cart มาเปิดจำหน่ายดีลเป็นแบบบุฟเฟ่ต์เพื่อให้ลูกค้าจ่ายราคาเน็ตและทานได้ไม่จำกัด ตอบโจทย์การคุมงบประมาณในการทานอาหารแต่ละมื้อ ปัจจุบันมีอาหารกว่า 280 ร้านทั่วกรุงเทพ เริ่มขยายบริการไปยังเชียงใหม่และภูเก็ต 

คุณอานันท์ ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้ง AIRPORTELs บริการจัดส่งกระเป๋าไปยังสนามบิน โรงแรม และฝากกระเป๋าในศูนย์การค้า โดยก่อตั้งในปี 2015 วัตถุประสงค์คือต้องการช่วยให้นักเดินทางได้ใช้เวลาและวางแผนการมากรุงเทพอย่างไม่ต้องกังวลเรื่องกระเป๋า

อธิบายโมเดลธุรกิจใหม่ที่ร่วมมือกันเพื่อสู้โควิด

จากวิกฤตการระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อ 2 ธุรกิจนี้อย่างสาหัส

  • ด้านของร้านอาหารไม่สามารถให้บริการแบบทานที่ร้านได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Hungry Hub ไม่สามารถให้บริการลูกค้าที่หน้าร้านได้
  • ส่วนในแง่การท่องเที่ยวที่ปิดตายของไทยและหลายทั่วทั้งโลก ส่งผลให้ลูกค้าของ AIRPORTELs ซึ่ง 90% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็หดหายไปด้วยเช่นเดียวกัน 

ดังนั้น Hungry Hub และ AIRPORTELs จึงได้พาร์ทเนอร์กันในการให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ เรียกว่า “Hungry Hub @ Home” โดย Hungry Hub ดูแลในส่วนของการตลาด ส่วน AIRPORTELs ดูแลในส่วนของโลจิสติกส์และการจัดส่ง

คุณสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ เจ้าของ Hungry Hub
คุณสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ เจ้าของ Hungry Hub

แตกต่างอย่างไร ทำไมถึงคิดว่าจะสู้กับแพลตฟอร์มรายใหญ่ๆ ได้

แตกต่างแน่นอน ประการแรกคือ Hungry Hub @ Home คิดค่าคอมมิชชั่นเริ่มต้นเพียง 10% เท่านั้น ส่วนความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือใช้แนวคิดแบบบุฟเฟ่ต์ โดยการสั่งจะมี basket size ที่ใหญ่กว่าเจ้าอื่น ลูกค้าจึงสามารถเลือกมิกซ์แอนด์แมทช์อาหารได้ในสไตล์เดียวกับบุฟเฟ่ต์

ที่สำคัญสุดคือ เรามีร้านเด็ด-ร้านดังซึ่งไม่เคยทำเดลิเวอรี่มาก่อนมาร่วมทำกับ Hungry Hub เพียงแค่เจ้าเดียวอีกด้วย เช่น ร้านคอปเปอร์, ร้านชาบู Momo Paradise, บุฟเฟ่ต์อาหารจากโรงแรมบันยันทรี เป็นต้น

การร่วมมือกันในครั้งนี้ไม่ได้เพียงแค่จะทำให้พันธมิตรร้านอาหารอยู่รอดได้หรือป้องกันการตกงานของผู้คนเท่านั้น เพราะมันก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานส่งอาหาร โดยเราใช้ทั้งบริการแท็กซี่และตุ๊กตุ๊กในกรณีที่มีการส่งอาหารปริมาณมาก ทั้งหมดนี้ถือเป็นการช่วยเหลืออาชีพเหล่านี้ในช่วงที่ขาดรายได้เนื่องจากคนเดินทางลดลง

สำหรับ Hungry Hub ในวิกฤตโควิดถือเป็นโอกาสสำคัญที่ได้ก้าวใหม่ของธุรกิจ เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสร้างเครือข่ายร้านอาหารได้ 250 แห่ง แต่ในช่วงเพียงเดือนเศษๆ ในยุคโควิดระบาดหนัก มีร้านอาหารเข้ามาร่วมแพลตฟอร์มกว่า 160 แห่ง และส่วนใหญ่เป็นร้านเชนใหญ่ๆ รวมถึงแบรนด์ที่โดยปกติไม่ได้เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าใดมาก่อน

“ร้านอาหารดีๆ (Fine Dining) ส่วนใหญ่จะไม่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่มีในตลาด เพราะมีข้อกังวลหลายประการ ทั้งเรื่องการควบคุมคุณภาพไปจนถึงเรื่องค่าคอมมิชชั่นที่มีการเก็บค่อนข้างสูง แต่แม้จะคิดราคาในเรทนั้น ก็ยังขาดทุนอยู่ดี เนื่องจากตลาดนี้แข่งกันเดือดมาก … แต่เราจะไม่ทำ[เดลิเวอรี่]ก็ไม่ได้ เพราะมันคือทางรอด แต่เราไม่ต้องการแข่งในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ทั่วๆ ไป เพราะเราไม่ต้องการเข้าไปแข่งที่ Basket Size (ขายให้ได้จำนวนครั้งมากๆ) สิ่งที่เราเน้นไปคือตลาดไฮเอนด์ ร้านเชนขนาดใหญ่ รวมถึงแบรนด์ที่ไม่เคยคิดว่าจะมาทำเดลิเวอรี่มาก่อน นั่นคือจุดแข็งของเราที่ทำธุรกิจมาตั้งแต่ยังไม่มีบริการเดลิเวอรี่ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าแฮปปี้ นี่คือความแตกต่างในบริการของเรา” คุณสุรสิทธิ์ กล่าว

 

คุณอานันท์ ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้ง Airportels

ส่วน Airportels ช่วงที่วิกฤตโควิดถาโถมเข้ามา คุณอานันท์ บอกว่า “รายได้หดหายลงไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวหยุดชะงัก บริการของเราก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ช่วงกลางมกราคมรายได้ลดลง 20-30% ส่วนช่วงกุมภาพันธ์กระทบ 50% ทางบริษัทจึงเริ่มปรับลดเงินเดือน คือปรับตัวทุกวิถีทาง แต่เดือนมีนาคมเลวร้ายลงไปอีก รายได้หดหายไป 95% พอมาเดือนเมษายน เราหยุด operation ทั้งหมดก่อนเลย มันฝืนไม่ได้”

“แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส เพียงแต่ว่าคำถามคือ โอกาสนั้นคืออะไร เราต้องหาให้เจอ ทำงานให้หนักกว่าเดิม เราเข้าไปคุยหมดทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ คู่ค้า เราเข้าไปต่อรองและพูดคุยทั้งหมด เราไม่ยอมแพ้ เราไม่รู้ว่าวิกฤตรอบนี้จะยาวนานไปอีกแค่ไหน และโมเดลธุรกิจเดิมจะใช้ได้หรือเปล่า เราต้องยอมรับความจริง และใช้สิ่งที่เรามีให้เป็นประโยชน์”

“พอรู้ว่า Hungry Hub มาทำเดลิเวอรี่ ซึ่งทีมเราเองมีความสามารถในการจัดการโลจิสติกส์ สมัยส่งประเป๋าเรารู้เลยว่าใน 1 วัน กระเป๋าเป็นพันๆ ใบส่งไปที่ไหนบ้าง เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญในการจัดส่ง ส่งช้าเราคืนเงินเลย เรามีตรงนี้ พอได้มาร่วมกันทำงานกับ Hungry Hub แม้ว่าจะเป็นการส่งอาหาร มีความแปลกใหม่ ทางเราก็ต้องปรับตัวอยู่พอสมควร”

บริการ Hungry Hub @ Home เข้าถึงลูกค้าอย่างไร

“เราเชื่อมั่นในโมเดลความยั่งยืนของการเติบโต” คุณสุรสิทธิ์กล่าวพร้อมระบุรายละเอียดว่า “เราใช้บล็อกเกอร์/อินฟลูเอนเซอร์ เรามีเพจที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมากอยู่ 70-80 เพจ แล้ววิธีการทำงานคือแบ่งรายได้กัน เราสามารถ track ได้ว่า บล็อกเกอร์รายนี้โพสต์โฆษณาไปแล้ว มีลูกค้ากดเข้ามาซื้อเท่าไหร่ ถ้าซื้อมาก บล็อกเกอร์ก็ได้มาก เป็นการทำการตลาดที่วัดผลได้และที่สำคัญคือเป็นโมเดลที่เติบโตไปด้วยกัน”

ไปพบกันได้อย่างไร

ทั้ง 2 คนพบกันเมื่อปลายปี 2019 ผ่านทางหลักสูตร eFounders Fellowship ของ Alibaba ที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา บิซิเนส สคูล และอังค์ถัด (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้ได้เรียนรู้ Know-how ในการสร้างธุรกิจและสร้างผู้นำเศรษฐกิจใหม่ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจดิจิทัล โดยให้ผู้ที่เข้าอบรมได้นำความรู้ ประสบการณ์ และกรณีศึกษา รวมทั้งแรงบันดาลใจที่เคยได้เรียนรู้จาก eFounders มาใช้ในการปรับธุรกิจของตน

“ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะยอมหยุดงานสักครู่เพื่อไปเรียนรู้เพิ่มเติม แต่ครั้งนี้เป็น Alibaba บริษัทระดับโลก พอรู้ว่าจะได้เข้าร่วมก็เต็มที่มากๆ เพราะที่นี่สอนแนวคิดธุรกิจแบบจัดเต็ม และเมื่อจบหลักสูตรก็สามารถนำมาใช้กับธุรกิจได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายของคนที่เข้ามาเรียน เนื่องจากการแชร์เคสที่ประสบความสำเร็จระหว่างกันเพื่อช่วยกันหาทางออกโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19คุณสุรสิทธิ์ กล่าว

ส่วนด้านคุณอานันท์ ระบุว่า “พอคนในบริษัทมีจำนวนมากขึ้น จึงได้สมัครไปเรียนหลักสูตรนี้ เราต้องการทักษะความเป็นผู้นำ (leadership) เพราะเรื่องคนเป็นสิ่งสำคัญ สุดท้ายไม่ผิดหวัง ได้สิ่งที่มองหา ที่นี่เขาสอนทั้งหมดตั้งแต่จะหา Vision อย่างไร เมื่อได้แล้วจะสร้าง Mission อย่างไร แล้วเปลี่ยนให้เป็น Strategy รวมถึงนำมาทำ Organization Business อย่างไร นอกจากนั้นต้องวัดผลได้ด้วย”

สรุป

นี่คือความร่วมมือและแนวคิดของ 2 สตาร์ทอัพชาวไทยที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหารและการเดินทาง/ท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะต้องปรับตัวเพื่อสู้กับวิกฤตโควิด ประเด็นสำคัญคือเป็นการสร้างหนทางอยู่รอดของธุรกิจในในตัวด้วย

แน่นอนว่า วิกฤตโควิดกำลังเปลี่ยนแปลงโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะวิถีการใช้ชีวิตใหม่ๆ และที่สำคัญคือ หลังจากนี้เราอาจไม่กลับไปสู่โลกเดิมที่เคยเข้าใจก็เป็นได้

ภาพของร้านอาหารที่ต้องนั่งห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการเดินทางโดยรถสาธารณะ การเดินทางข้ามประเทศด้วย New Normal จะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่เราจะเริ่มได้เห็นคำตอบชัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งหมดนี้เป็นวิถีของผู้บริโภคที่จะปรับตัวไปตามพฤติกรรมใหม่ๆ (ซึ่งถูกกำหนดด้วยบริบทของรูปแบบธุรกิจใหม่ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอีกมหาศาล)

แต่ในอีกด้านสำหรับคนทำธุรกิจ โจทย์ใหญ่ของวันนี้คือ ต้องมองภาพของ New Normal ให้ออกมาชัดเจนมากที่สุด เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้พร้อมรองรับโลกใหม่และพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา