ราคาข้าวถุงในไทยทำสถิติใหม่ในรอบ 10 ปี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรอย่างข้าวสารและข้าวสาลีก็ทำสถิติใหม่ตามไปด้วย หลังจากความต้องการเพิ่มขึ้นจากวิกฤติ COVID-19
ราคาข้าวถุงของไทยได้ทำสถิติใหม่ โดยราคาของข้าวถุงปรับขึ้นถึง 20% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และทำให้ราคาข้าวถุงที่ขายกันปัจจุบันราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี สาเหตุสำคัญมาจากผลผลิตของเกษตรกรมีน้อยลง จากผลกระทบของภัยแล้งในตอนนี้ ขณะเดียวกันโรงสีก็ได้แย่งกันรับซื้อ ส่งผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดีคาดว่าราคาข้าวของไทยจะลดลงในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม เนื่องจากผลผลิตล็อตใหม่เข้ามา
- ไม่ใช่แค่ไข่ที่แพง ภัยแล้งทำพิษ ดันข้าวสารไทย-เวียดนามในตลาดโลกราคาสูงสุดในรอบ 6 ปี
- วิกฤตโควิด-19 มาเลเซียกังวลข้าวไม่พอกิน ส่วนเวียดนามเริ่มกักตุน งดส่งออกชั่วคราว
- ข้าวไม่ขาดแคลน แต่แพงขึ้น สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงฯ เผย ภัยแล้งทำราคาสูงขึ้น 20-30%
อ้างอิงจากเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ได้กล่าวว่า จากราคาข้าวเปลือกที่ขยับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าตันละ 9,000-10,900 บาท ขึ้นกับคุณภาพและความชื้น ได้ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี ส่งผลทำให้ต้นทุนข้าวสารที่ใช้ผลิตข้าวสารบรรจุถุงปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ขอความเห็นใจแก่ผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น
ขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกเองก็ได้ทำสถิติใหม่ในรอบ 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร รวมไปถึงข้าวสาลี โดยสาเหตุสำคัญมาจากราคาข้าวของไทยที่สูงขึ้นที่ได้กล่าวไป ไม่เพียงแค่นั้นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างอินเดีย ขาดแคลนแรงงานจากการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังประสบปัญหาด้านการขนส่ง ทำให้ผู้ส่งออกในอินเดียงดทำสัญญาส่งออกข้าวในช่วงนี้
ทางด้านเวียดนามที่เป็นประเทศส่งออกรายใหญ่เช่นกันนั้นก็ประสบปัญหาไม่สามารถส่งสินค้าออกไปได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบในด้านการขนส่ง รวมไปถึงนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่จำกัดการส่งออกข้าวสารในช่วงนี้
International Grain Council ให้มุมมองว่าหลายๆ ประเทศกำลังเร่งการซื้อสินค้าเกษตร ขณะที่ปัญหาของการขนส่งจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ระยะสั้นความต้องการสินค้าไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร รวมไปถึงข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังจากในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมราคาของข้าวสาลีเพิ่มขึ้นถึง 15% จากความต้องการของประเทศตะวันตกที่เพิ่มขึ้น
ไม่ใช่แค่ปัญหาของการเก็บเกี่ยวและส่งออกข้าวเท่านั้น แต่ล่าสุดแรงงานที่ขาดแคลนยังส่งผลต่อ สหรัฐ ทวีปยุโรป รวมถึงจีน ที่กำลังจะมีฤดูการเพาะปลูกพืชหลายๆ ชนิดในเร็วๆ นี้ด้วย ซึ่งถ้าหากปัญหานี้ลุกลาม อาจทำให้ปริมาณของสินค้าเกษตรกรรมไม่ใช่แค่ข้าวที่อาจขาดตลาดในปีนี้
ที่มา – CNBC, ฐานเศรษฐกิจ, Dhaka Tribune
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา